คอทีวีต้องอ่าน! เตือนดูโทรทัศน์มากไป กระทบ "เชาวน์ปัญญา"

คอทีวีต้องอ่าน! เตือนดูโทรทัศน์มากไป กระทบ "เชาวน์ปัญญา"

คอทีวีต้องอ่าน! เตือนดูโทรทัศน์มากไป กระทบ "เชาวน์ปัญญา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มติชนรายวัน 17 ธันวาคม 2558

รายงานผลการวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ของทีมวิจัยจากสถาบันเพื่อการศึกษาและวิจัยแห่งนอร์เทิร์นแคลิฟอร์เนียในสังกัดศูนย์กิจการแพทย์ทหารผ่านศึก ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกานำโดย ทินา ดี. ฮวง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ "เจเอเอ็มเอ ไซเคียทรี" เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการดูโทรทัศน์มากเกินไป รวมถึงการมีพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ในวัยผู้ใหญ่ช่วงต้น จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาของสมองนับตั้งแต่ช่วงวัยกลางคนเป็นต้นไป

การวิจัยดังกล่าวซึ่งกินเวลาต่อเนื่องถึง 25 ปี ใช้วิธีการสำรวจและประเมินพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 3,200 คน โดยที่กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 25 ปี เมื่อเริ่มต้นการทดลอง

ทีมวิจัยใช้วิธีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างทุกๆ 5 ปีว่า ใช้เวลาในการรับชมโทรทัศน์ต่อวันโดยเฉลี่ยแล้วกี่ชั่วโมงในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังสอบถามระยะเวลาในการออกกำลังกายในตอนเริ่มต้นการทดลอง และจากนั้นก็จะสอบถามอีกครั้งในทุกๆ 2-5 ปีต่อมา

หลังผ่านไป 25 ปี ทีมวิจัยตรวจสอบสภาพเชาวน์ปัญญาของผู้เข้าร่วมการทดลอง โดยใช้แบบทดสอบเชาวน์ปัญญา 3 ชุด ประกอบด้วย แบบทดสอบเพื่อประเมินความเร็วในการประมวลผลข้อมูล, แบบทดสอบความจำที่ได้รับการบอกด้วยปากเปล่า, แบบทดสอบทักษะเชิงบริหาร ซึ่งเป็นการประเมินทักษะของสมองของกลุ่มตัวอย่างในการวางแผน, การจัดการ และการใส่ใจในการทำภารกิจหนึ่งๆ

ผลจากการทดลองพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 353 คน ทำคะแนนในการทดสอบบางอย่างได้ต่ำกว่ากลุ่มตัวอย่างซึ่งดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยแล้วน้อยกว่า นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 528 คน ที่ออกกำลังกายน้อยที่สุด ทำแบบทดสอบ 1 ใน 3 แบบทดสอบได้แย่กว่าคนที่มีการออกกำลังและกระตือรือร้นมากกว่า และกลุ่มตัวอย่างที่ทั้งดูโทรทัศน์เกินกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน และออกกำลังกายน้อยที่สุด ทำแบบทดสอบเชิงเชาวน์ปัญญาได้แย่ที่สุด คือทำคะแนนได้แย่กว่าผู้ที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่า และออกกำลังกายมากกว่าถึง 2 เท่า

แม้ยังไม่แน่ใจนักแต่ ทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานไว้ว่า การรับชมโทรทัศน์อาจไม่ใช่พฤติกรรมที่ใช้และสามารถพัฒนาเชาวน์ปัญญา ในเวลาเดียวกันการดูโทรทัศน์ ก็อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพตามไปด้วย อาทิ กินอาหารไม่ตรงเวลาหรือไม่ดีต่อสุขภาพ

ซึ่งส่งผลลบต่อศักยภาพเชาวน์ปัญญาเช่นเดียวกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook