7 วิธีสังเกต ลูกอาจถูก “บูลลี่” ที่โรงเรียน

7 วิธีสังเกต ลูกอาจถูก “บูลลี่” ที่โรงเรียน

7 วิธีสังเกต ลูกอาจถูก “บูลลี่” ที่โรงเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การกลั่นแกล้ง ถูกรังแก หรือที่สมัยนี้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่าถูก “บูลลี่” (Bully) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานาน และยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังคงต้องแก้ไขกันต่อไป แต่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของลูกน้อย และช่วยเหลือเขาได้อย่างทันท่วงที

>> “บูลลี่” (Bully) คืออะไร ? และควรรับมืออย่างไรในสังคม ?


วิธีสังเกต ลูกอาจถูก “บูลลี่” ที่โรงเรียน

  1. กลับจากโรงเรียนแล้วสภาพร่างกายไม่เรียบร้อย เช่น เสื้อผ้ามีรอยฉีกขาด เลอะเทอะสกปรกเกินกว่าปกติ กระเป๋า หนังสือ สมุด อุปกรณ์การเรียน มีร่องรอยเสียหาย

  2. พบรอยฟกช้ำดำเขียว หรือรอยแผลที่ไม่ทราบสาเหตุ

  3. กลัวการไปโรงเรียน ไม่อยากไปโรงเรียนอย่างชัดเจน

  4. ผลการเรียนตกลง ทั้ง ๆ ที่เคยทำได้ดีมาก่อน

  5. ไม่พูดไม่จา หรือไม่อยากตอบ เมื่อถามถึงเรื่องที่โรงเรียน

  6. เริ่มเก็บตัว ไม่สูงสิงกับใคร เริ่มไม่พูดถึงเพื่อนคนไหนที่โรงเรียน

  7. นอนไม่หลับ ฝันร้าย


ทำอย่างไร เมื่อลูกถูก “บูลลี่”

เฟซบุคเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ดังนี้

  1. ขั้นแรก เมื่อสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วเริ่มสงสัยว่าลูกน้อยอาจจะโดนบูลลี่ที่โรงเรียนเรียบร้อยแล้ว ควรค่อย ๆ หาจังหวะในการชวนคุยอย่างละมุนละม่อม ค่อย ๆ ถามไถ่ถึงเรื่องที่โรงเรียน เกิดอะไรขึ้น มีอะไรอยากเล่าให้ฟังไหม 

  2. หากช่วงแรก ๆ เด็กยังไม่มีทีท่าอยากจะเล่า เพราะอาจถูกขู่ว่าหากฟ้องพ่อแม่หรือคุณครู จะถูกแกล้งหนักกว่าเดิม ก็อย่าเพิ่งคาดขั้นให้ตอบเดี๋ยวนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรใจเย็น ๆ พร้อมกับบอกเขาว่า “มีเรื่องอะไรไม่สบายใจก็เล่าให้ฟังได้ พร้อมจะอยู่ข้าง ๆ และคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ”

  3. ถ้าเด็กยังไม่เล่าอะไรให้ฟัง ควรสอบถามไปที่คุณครูที่โรงเรียน ว่าลูกของเรามีพฤติกรรมอย่างไรที่โรงเรียน ร่าเริงแจ่มใสดีไหม มีเพื่อนสนิทหรือเปล่า ตั้งใจเรียน ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนดีหรือไม่ และที่สำคัญคือมีความเสี่ยงตรงไหนที่จะโดนบูลลี่หรือไม่

  4. เมื่อถึงเวลาที่เด็กเริ่มรับมือไม่ไหว และเราคอยสอบถามด้วยความเป็นห่วงอยู่เรื่อย ๆ วันหนึ่งเด็กอาจจะเปืดใจยอมเล่าให้เราฟัง ในตอนนั้นขอใหุ้คณพ่อคุณแม่เป็นนักฟังที่ดีก่อน อย่าเพิ่งด่วนสรุป แย่งเด็กพูด หรือตัดสินว่าสิ่งที่เด็กพูดหรือทำกับเพื่อนที่มาแกล้งเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด ฟังเรื่องที่เด็กเล่าจนจบ

  5. ไม่ควรพูดทำนองว่า “ถ้าเขามาแกล้งก็อย่าไปสนใจ” และ “ที่ถูกแกล้งเพราะไปทำอะไรเขาก่อนหรือเปล่า” เพราะอาจทำให้เด็กคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจเขา และหากเกิดเรื่องขึ้นก็จะไม่มาเล่าให้พ่อแม่ฟังอีก

  6. เพื่อเด็กเล่าจบ ค่อย ๆ แนะนำทางแก้ไขให้เด็กทราบ โดยแนะนำให้เด็กแจ้งผู้ใหญ่ เช่น คุณครู ทุกครั้งที่มีเรื่อง รวมถึงแจ้งพ่อแม่ด้วย โดยไม่ต้องสนใจว่าเพื่อนจะขู่ว่าอะไร หรือหากเรื่องที่ขู่เป็นเรื่องใหญ่มาก ให้แอบมาบอกพ่อแม่ที่บ้าน

  7. ไม่ควรแนะนำให้เด็กใช้กำลังในการต่อสู้กลับ เพราะส่วนใหญ่เด็กที่มาแกล้งมักจะโตกว่า หรือมีพละกำลังมากกว่าลูกของเราอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นลูกของเราคงสู้เขาได้ไปนานแล้ว

  8. เมื่อพ่อแม่ทราบเรื่อง ให้แจ้งไปทางคุณครู และทางโรงเรียน โดยเก็บหลักฐานข้อมูล และเล่าข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ทางโรงเรียนฟัง และรอการตัดสินใจที่จะช่วยเหลือของโรงเรียนอย่างใจเย็น ให้ทางโรงเรียนทราบว่ามีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับลูกของเรา และเรามาแจ้งเพื่อให้ทางโรงเรียนหาวิธีจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำขึ้นอีก ทางโรงเรียนก็ควรมีวิธีจัดการปัญหาที่ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกถึงความปลอดภัยต่อเด็กที่เพิ่มขึ้นด้วย

  9. พ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครูค่อย ๆ แนะนำวิธีช่วยเหลือตัวองในเบื้องต้นให้กับเด็ก และเมื่อไรก็ตามที่เด็กเริ่มปกป้องตัวเองได้บ้าง เขาจะเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และจะเริ่มมีความกล้าที่จะช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

  10. อย่าลืมทำตัวเป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูกอยู่เสมอ สอบถามอย่างเป็นห่วง อัปเดตเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน เมื่อไรที่เด็กทำได้ดีก็คอยให้กำลังใจ เมื่อไรที่ทำพลาดหรือโดนกลั่นแกล้งก็ปลอบใจ ให้เด็กไว้ใจที่จะเล่าทั้งเรื่องดีและไม่ดีให้เราฟัง เพื่อป้องกันการถูกรังแกที่โรงเรียนต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook