“เดินเท้าเปล่า-เด็กเล่นพื้นดิน” เสี่ยง “พยาธิชอนไชผิวหนัง”

“เดินเท้าเปล่า-เด็กเล่นพื้นดิน” เสี่ยง “พยาธิชอนไชผิวหนัง”

“เดินเท้าเปล่า-เด็กเล่นพื้นดิน” เสี่ยง “พยาธิชอนไชผิวหนัง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พยาธิชอนไชผิวหนัง” ไม่ได้มาจากอาหารการกิน แต่มาจากพยาธิตามพื้นดินที่สามารถชอนไชเข้าสู่ผิวหนังของเราได้ โดยเฉพาะคนที่เดินเท้าเปล่า หรือเด็กที่สวมเสื้อผ้าบาง ๆ นั่งเล่นบนพื้นทราย เสี่ยงผิวหนังอักเสบ คัน และอาจติดเชื้อได้

 
สาเหตุของโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง

ร.ศ.พ.ญ. กัญญารัตน์ กรัยวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ.ศ.พ.ญ. จิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสคร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตาม ทางที่พยาธิไชผ่านจนสามารถมองเห็นได้จากภายนอก 

 
พยาธิชอนไชผิวหนัง เข้าไปในร่างกายได้หรือไม่ ?

เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง โดยพยาธิสภาพ และอาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ

พยาธิชอนไชผิวหนังที่พบได้

  1. พยาธิปากขอของแมวและสุนัข Ancylostoma braziliense (พบบ่อยที่สุด), A. caninum, A. ceylanicum, A. tubaeforme, Uncinaria stenocephala, Bunstomum phlebotomum

  2. พยาธิเส้นด้ายของสัตว์ Strongyloides papillosus (พยาธิของแพะ แกะ วัว), S. westeri (พยาธิของม้า)

 
พยาธิชอนไชผิวหนังเราได้อย่างไร ?

พยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ที่พื้นดินชื้นแฉะไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่า หรืออาจจะติดตามตัวทาก หรือเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทรายโดยสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบาง ๆ เช่น ชุดว่ายน้ำ ได้

 
อาการเมื่อพยาธิชอนไชผิวหนัง

พยาธิระยะตัวอ่อนจะหลั่งเอ็นไซม์เพื่อไชผ่านผิวหนังปกติ ผิวหนังที่เป็นแผล หรือไชเข้ามาตามรูขุมขน มาอยู่ในชั้นหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถไชผ่านหนังแท้ได้ จนสุดท้ายพยาธิจะตายไปเอง แต่ในช่วงที่พยาธิชอนไชอยู่หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ ต่อมาอีก 2-3 วันพยาธิตัวอ่อนจะเริ่มเคลื่อนที่ไปใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังจะมีการอักเสบ บวมน้ำ มีเม็ดเลือดขาวมาคั่งอยู่

 
ลักษณะของผื่นที่เกิดจากพยาธิชอนไชผิวหนัง

  • ผู้ป่วยจะเกิดผื่นหลังจากตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังเข้ามาประมาณ 2-50 วัน 

  • ตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงก่อน 

  • จากนั้นเมื่อพยาธิเริ่มเคลื่อนที่โดยการไชจะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตรคดเคี้ยวไปมา

  • ผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 15-20 ซม. โดยตัวอ่อนของพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร 

  • อาจเกิดตุ่มน้ำตามแนวที่พยาธิไช 

  • อาจมีผื่นเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน 

  • ผื่นมักพบบริเวณที่ผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรงคือมือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้น 

  • อาการร่วมที่สำคัญคือ ต้องมีอาการคันอย่างมาก และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

 

การรักษาโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง

ถ้าไม่เข้ารับการรักษา ผื่นอาจหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์-2 ปี แล้วแต่ความรุนแรงของโรค แต่แนะนำให้พบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น คันมาก หรือติดเชื้อแบคทีเรีย

แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น Ivermectin, Thiabendazole หรือ Albendazole และ/หรือ ยาทา Thiabendazole ทาบริเวณผื่นที่เกิดขึ้น

 
วิธีป้องกันโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง

  1. ไม่ควรเดินเท้าเปล่า นั่ง หรือใช้มือสัมผัสดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์ 

  2. ระมัดระวังเด็กเล็กให้สวมใส่เสื้อผ้าหนาเมื่อเล่นบนพื้นดิน และไม่ให้นั่งเล่นบนพื้นดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์

  3. ถ่ายพยาธิในแมว และสุนัข เพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook