วิธีปฐมพยาบาล "แมลงก้นกระดก" แค่สัมผัสก็ได้รับพิษ พร้อมวิธีป้องกัน

วิธีปฐมพยาบาล "แมลงก้นกระดก" แค่สัมผัสก็ได้รับพิษ พร้อมวิธีป้องกัน

วิธีปฐมพยาบาล "แมลงก้นกระดก" แค่สัมผัสก็ได้รับพิษ พร้อมวิธีป้องกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันโรคผิวหนังเตือนประชาชนช่วงปลายฝนให้ระวังโรคผิวหนังจากการสัมผัส "แมลงก้นกระดก" พบมากบริเวณนอกร่มผ้า ลักษณะเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ หากรับพิษมาก แพ้รุนแรงจะมีไข้สูงมีอาการทางระบบหายใจ และหากเป็นที่ตาอาจทำให้ตาบอด

บี้แมลงก้นกระดก อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์  รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าวเรื่องเตือนภัย หนุ่มถูก "แมลงก้นกระดก" แพ้จนเป็นเหวอะขึ้นที่หน้า หากพบอย่าโดนหรือสัมผัสนั้น ด้วงก้นกระดกหรือแมลงก้นกระดก เป็นแมลงที่พบมากในนาข้าวและพื้นที่การเกษตร  โดยพบมากในช่วงปลายฤดูฝน จากข้อมูลด้านระบาดวิทยาของผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่สถาบันโรคผิวหนัง พบว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม จะมีการกระจายตัวของผู้ป่วยภาวะผื่นผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกมากที่สุด อาการผิวหนังอักเสบ เกิดจากการที่มีแมลงมาเกาะตามร่างกายแล้วเผลอปัด หรือบี้ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษในตัวแมลง อาการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่สัมผัส ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัสแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง  พบมากบริเวณนอกร่มผ้า  โดยมีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว เป็นไปตามรอยปาดของมือที่บี้แมลง

อาการผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะของผื่นที่โดนแมลงด้วงก้นกระดก ผื่นมีขอบเขตชัดเจน  ในระยะ 2-3 วัน จะมีตุ่มน้ำพองใสและตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้น อาการคันมีไม่มากนัก แต่มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย หากสารพิษในตัวแมลงกระจายถูกบริเวณดวงตา จะทำให้ตาบวมแดง และอาจตาบอดได้  ทั้งนี้ ผื่นบริเวณใบหน้า รอบดวงตา หรือบริเวณผิวอ่อน มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่อื่น  แต่บริเวณฝ่ามือจะไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากบริเวณนี้มีผิวหนากว่าผิวส่วนอื่น  ซึ่งอาการอักเสบเหล่านี้จะหายไปในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์  โดยทั่วไปอาการอักเสบจากด้วงก้นกระดกจะไม่รุนแรง ยกเว้นในรายที่ได้รับพิษจำนวนมาก หรือมีอาการแพ้รุนแรงจะมีไข้สูง และมีอาการทางระบบหายใจ

วิธีปฐมพยาบาล ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า สำหรับการรักษาและการป้องกันเมื่อสัมผัสกับแมลงก้นกระดก ควรทำดังนี้

  1. ล้างผิวหนังบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย 

  2. อย่าเกาเพราะจะทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

  3. หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์


การป้องกันตัวเองจากแมลงก้นกระดก

  1. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมลง หากแมลงมาเกาะตามร่างกาย อย่าตบหรือตีแต่ให้เป่า หรืออาจจะใช้เทปกาวใสมาแปะตัวแมลงออกไป

  2. ก่อนนอนควรปัดที่นอน ผ้าห่มจนแน่ใจว่าไม่มีแมลง

  3. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เปิดไฟเฉพาะที่จำเป็นเพื่อไม่ให้แมลงชนิดนี้มาเล่นไฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook