"คลั่งกินคลีน" ภัยสุขภาพที่มาพร้อมสื่อสังคมออนไลน์
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/he/0/ud/3/17309/clean-food.jpg"คลั่งกินคลีน" ภัยสุขภาพที่มาพร้อมสื่อสังคมออนไลน์

    "คลั่งกินคลีน" ภัยสุขภาพที่มาพร้อมสื่อสังคมออนไลน์

    2019-08-12T18:00:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์ต่างเต็มไปด้วยข้อความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรับประมานอาหารหรือการออกกำลังกายแบบใหม่ที่กำลังเป็นกระแส เช่น การกินอาหารแบบคีโต แบบพาเลโอ การทำดีท็อกซ์ หรือการทานน้ำผักคึ่นช่ายฝรั่งปั่น เป็นต้น เพื่อการมีรูปร่างที่ดีเหมือนดาราหรือคนดังที่คุณชื่นชอบ

    แต่สมาคมศึกษาอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร (National Eating Disorders Association) ของสหรัฐฯ เตือนว่า การยึดติดกับกระแสในโลกออนไลน์เหล่านั้นมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า "อาการคลั่งกินคลีน" ได้

    National Eating Disorders Association ในสหรัฐฯ ระบุว่า "อาการคลั่งกินคลีน" หรือ orthorexia nervosa "เป็นอาการผิดปกติในการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความคิดวนเวียนเกี่ยวกับการกินอาหารเพื่อสุขภาพมากจนเกินพอดี คล้ายกับอาการ "คลั่งการลดน้ำหนัก" หรือ anorexia nervosa

    ในรายงานของ Washington Post คุณแคลร์ มายสโก ผู้บริหารของ National Eating Disorders Association ชี้ว่า ปัจจุบันคลินิกต่างๆ ในอเมริกาพบผู้ที่มีอาการ "คลั่งกินคลีน" มากขึ้น ซึ่งอาการนี้อาจนำไปสู่การจำกัดอาหารหรือสารอาหารบางประเภท ทำให้ระบบการเผาผลาญทำงานผิดปกติ ฮอร์โมนบางอย่างลดลง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ผมแห้ง ผิวหนังแห้ง สูญเสียมวลกระดูก รวมถึงการมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด

    รายงานวิจัยด้านสุขภาพที่จัดทำขึ้นในเนเธอร์แลนด์เมื่อปีที่แล้ว ชี้ว่า "อาการคลั่งกินคลีน" ถูกขับดันโดยวัฒนธรรมแบบตะวันตก เช่น การนิยมรูปร่างสมบูรณ์แบบ หรือการใช้ชีวิตประจำวันแบบเน้นที่สุขภาพมากเกินไป

    ขณะที่รายงานวิจัยเมื่อปี 2017 พบว่า คนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ อินสตาแกรม บ่อยๆ มีโอกาสเกิดอาการที่ว่านี้มากกว่าคนทั่วไป แต่ส่วนใหญ่มักไม่แสดงออกให้ใครเห็นเหมือนกับอาการผิดปกติแบบอื่นๆ ที่เป็นผลจากการรับประทานอาหาร

    คุณลินดา แฮมิลตัน นักจิตวิทยาด้านอาหารในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า ความคล้ายกันของ "อาการคลั่งกินคลีน" และ "อาการคลั่งการลดน้ำหนัก" คือความหลงใหลในความสมบูรณ์แบบ และความกระวนกระวายใจที่ไม่สามารถทำตามที่ต้องการได้ ซึ่งอาจประกอบกับความต้องการอยากจะผอมลงอย่างรวดเร็ว และยังไม่พอใจกับรูปร่างของตน

    ด้าน ผช.ศ.แองเจล่า กูอาร์ด้า แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Johns Hopkins บอกว่า ส่วนใหญ่ของผู้มีอาการนี้จะเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นการใช้แนวทางควบคุมอย่างเข้มงวดหรือสุดโต่งจนเกินพอดี เช่น การเลือกรับประทานแต่อาหารออร์แกนิค และกลัวอาหารที่ผ่านการปรุงแต่ง

    นักวิชาการผู้นี้ยังบอกด้วยว่า คนที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการเดียวกันนี้มากกว่าคนทั่วไป

    รายงานของสมาคมศึกษาอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ประเมินว่า ปัจจุบันมีคนอเมริกันราว 30 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 10 คนที่มีอาการลักษณะนี้ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพที่ควรได้รับการใส่ใจมากขึ้นในทุกสังคม

    ผช.ศ.กูอาร์ด้า แนะนำว่า การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างถูกวิธี คือการเดินทางสายกลาง ไม่ควบคุมหรือปล่อยปละละเลยจนเกินไป ปริมาณไม่มากหรือน้อยเกินไป มีความหลากหลายและกระจายสารอาหารให้ครบทุกกลุ่ม และที่สำคัญ ต้องออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

    ขณะที่คุณแคลร์ มายสโก ผู้บริหารของ National Eating Disorders Association แนะว่า ให้ระวังสิ่งที่คุณเห็นหรืออ่านบนหน้าสื่อสังคมออนไลน์ เพราะมีข้อมูลมากมายจากผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินหรือการออกกำลังกาย ซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

    ดังนั้นทางที่ดีคือปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจรับประทานอาหารแบบใดแบบหนึ่ง ตลอดจนวิธีลดน้ำหนักต่างๆ เพื่อดูว่าเหมาะสมกับร่างกายเรามากน้อยแค่ไหนอย่างไร

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจาก Washington Post

    ภาพ :iStock