"ไม่ได้ยิน" แค่ไหนถึงเรียก "หูตึง"

"ไม่ได้ยิน" แค่ไหนถึงเรียก "หูตึง"

"ไม่ได้ยิน" แค่ไหนถึงเรียก "หูตึง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • เมื่อพบว่าผู้สูงวัยมีอาการได้ยินไม่ชัด บางคำหายไป ได้ยินไม่ครบทั้งประโยค มีเสียงดังในหู มักขอให้คู่สนทนาพูดซ้ำหลายๆ ครั้ง  ดูโทรทัศน์เสียงดังกว่าปกติ พูดเสียงดังกว่าปกติ  ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจการได้ยิน

  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงและการรับประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้นได้

  • ปัจจุบันยังไม่มียารักษาภาวะเสื่อมตามวัยของระบบประสาทหู หากอาการหูตึงในผู้สูงวัยมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจใส่เครื่องช่วยฟัง ในกรณีหูตึงขั้นรุนแรงหรือหูหนวก  แพทย์อาจผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม

ปัญหาหนึ่งของสูงอายุคือการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งเกิดจากประสาทหูชั้นในค่อยๆ เสื่อมไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น แม้อาการหูตึงในผู้สูงวัยจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเท่ากับโรคร้ายแรงอื่นๆ แต่ก็กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และอาจเกิดปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าใจผิดเรื่องการรับประทานยาหรือการดูแลตัวเองจนส่งผลเสียต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรือผู้สูงอายุอาจปลีกตัวออกจากสังคมเนื่องจากขาดความมั่นใจ จนเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้าในที่สุด


สาเหตุของอาการหูตึงในผู้สูงวัย

เกิดจากเส้นประสาทหูและเซลล์ขนในหูชั้นในเสื่อมลงตามอายุ โดยเซลล์ขนส่วนฐานของคอเคลีย  (cochlea) จะเริ่มเสื่อมก่อน ส่งผลให้เมื่ออายุมากขึ้นจะไม่ได้ยินช่วงเสียงแหลมความถี่สูง  จากนั้นความเสื่อมจะค่อยๆ ลามไปถึงช่วงความถี่กลางซึ่งเป็นระดับของเสียงพูด จึงทำให้ผู้สูงอายุเริ่มฟังไม่ชัดเจน  โดยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป   นอกจากนี้โรคเรื้อรังและการรับประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ในบางกรณีหากปล่อยทิ้งไว้ภาวะหูตึงอาจเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นหูตึงขั้นรุนแรง


แค่ไหนเรียกหูตึง

หูตึง คือภาวะที่ความสามารถในการได้ยินลดลง ซึ่งมีระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ดังนี้

เสียงที่ได้ยิน ระดับความรุนแรง
ได้ยินเสียงพูดคุยในระดับ  0-25 เดซิเบล ปกติ
ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ  มีระดับการได้ยินที่ 26- 40 เดซิเบล หูตึงน้อย
ไม่ได้ยินเสียงพูดในระดับปกติ  ระดับเสียงเพิ่มเป็น 41-55 เดซิเบล หูตึงปานกลาง
ไม่ได้ยินแม้คนที่พยายามพูดเสียงดัง ต้องใช้เสียงดังระดับ 56-70 เดซิเบล หูตึงมาก
เมื่อตะโกนก็ยังไม่ได้ยิน   ด้วยระดับเสียง 71-90 เดซิเบล หูตึงขั้นรุนแรง
หากต้องใช้เสียงดังมากกว่า 91 เดซิเบลขึ้นไป หูหนวก

 

การวินิจฉัยอาการหูตึงในผู้สูงวัย

  • พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ด้วยการพูดคุยซักประวัติ ดูลักษณะอาการและภาวะการได้ยินเบื้องต้น

  • ตรวจหูอย่างละเอียด ตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้นใน แก้วหู  บางกรณีอาจมีการตรวจระบบประสาท และเส้นประสาทสมองร่วมด้วย

  • การตรวจพิเศษต่างๆ เช่น การตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อประเมินระดับการสูญเสียการได้ยิน


เมื่อไหร่ผู้สูงวัยจึงควรตรวจการได้ยิน

  • มักขอให้คู่สนทนาพูดซ้ำหลายๆ ครั้ง

  • ดูโทรทัศน์เสียงดังกว่าปกติ

  • ได้ยินไม่ชัด บางคำหายไป ได้ยินไม่ครบทั้งประโยค

  • มีเสียงดังในหู

  • พูดเสียงดังกว่าปกติ


การป้องกันและชะลออาการหูตึง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเสียงดัง

  • ไม่ใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู ยกเว้นยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น

  • ถ้าหากรู้สึกเจ็บหูหรือมีของเหลวไหลออกจากหู ให้ปรึกษาแพทย์ทันที

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น ความดัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินได้


การสื่อสารกับผู้สูงวัยที่สูญเสียการได้ยิน

  • พูดด้านหน้าของผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน

  • ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรืออื่นๆ ที่ทำให้ผู้ฟังมองไม่เห็นรูปปาก

  • พูดเป็นประโยคสั้น กระชับ

  • พูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องตะโกน

  • ควรพูดขณะที่มีเสียงรบกวนรอบข้างน้อยที่สุด เช่น เสียงโทรทัศน์


การรักษาอาการหูตึง

เนื่องจากปัจจุบันไม่มียารักษาภาวะเสื่อมตามวัยของระบบประสาทหู ดังนั้นในกรณีที่อาการหูตึงในผู้สูงวัยมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องช่วยฟัง (hearing aids) ซึ่งช่วยทำหน้าที่เสมือนเครื่องขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยใส่ไว้ในช่องหู สามารถถอดเก็บได้ ในกรณีหูตึงขั้นรุนแรงหรือหูหนวก แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear implant) ในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในบริเวณหูชั้นใน

หากเพิ่งเริ่มมีอาการหูตึงจากประสาทหูเสื่อมตามวัย ผู้สูงอายุควรระวังและดูแลไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น ด้วยการพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจเช็คระดับการได้ยิน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง และพยายามควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอและทำจิตใจให้แจ่มใส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook