3 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "น้ำในหูไม่เท่ากัน"

3 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "น้ำในหูไม่เท่ากัน"

3 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "น้ำในหูไม่เท่ากัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"โอย เวียนหัว บ้านหมุนจังเลย เป็นอะไรไปเนี่ย?"

เป็นคำอุทานของใครหลายๆคนที่มีอาการเวียนหัวพร้อมกับรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุน (ทั้งๆ ที่มันอยู่กับที่) เราพบว่ามีหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการนี้ครับ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ฯลฯ แต่ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากันให้มากขึ้นนะครับ

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีของเหลวในหูชั้นในข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็นๆหายๆ รองจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด สามารถพบได้ในคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป พบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการเกิดโรคได้ แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับบางปัจจัย เช่น โรคหูน้ำหนวก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคภูมิแพ้ ปวดศีรษะแบบไมเกรน ภาวะเครียด การอดหลับอดนอน การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็น "น้ำในหูไม่เท่ากัน"?

การวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์จะอาศัยการซักประวัติเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีการตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรค ในการซักประวัติ แพทย์จะใช้เกณฑ์ 3 ข้อ ในการยืนยันโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ดังนี้

  1. อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นอยู่นานแค่ไหน โดยส่วนใหญ่จะเป็นมากกว่า 20 นาที (ปกติ 20-40 นาที หรือมากกว่า)

  2. มีการได้ยินของหูข้างนั้นลดลงหรือไม่ หรืออาจจะมีอาการหูอื้อ หูดับ เป็นต้น

  3. มีเสียงในหูหรือไม่ โดยส่วนมากผู้ป่วยมักได้ยินเสียงคล้ายแมลง จักจั่น หรือจิ้งหรีดดังในหูตลอดเวลา 

 

หากเข้าเกณฑ์ครบทั้ง 3 ข้อ แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์บางรายอาจมีการตรวจบางรายการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันตัวโรค เช่น ตรวจการได้ยินของหู เป็นต้น

 

การดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการเวียนหัวบ้านหมุนจากโรค "น้ำในหูไม่เท่ากัน"

  1. เมื่อมีอาการเวียนหัวบ้านหมุน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคว่าอาการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด

  2. หากเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แพทย์จะให้ยามารับประทาน ให้รับประทานตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

  3. ลดหรืองดอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว เป็นต้น

  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง

  5. พยายามทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ อาจจะเข้าวัดฟังธรรมตามสมควร

  6. งดเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook