"รีเทนเนอร์" หลังจากจัดฟัน สำคัญอย่างไร? ไม่ใส่ได้ไหม?

"รีเทนเนอร์" หลังจากจัดฟัน สำคัญอย่างไร? ไม่ใส่ได้ไหม?

"รีเทนเนอร์" หลังจากจัดฟัน สำคัญอย่างไร? ไม่ใส่ได้ไหม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทพญ.ณัฐินี  โกษาคาร 
งานทันตกรรม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ปัจจุบันผู้คนนิยมจัดฟันมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาการเรียงตัวของฟัน หรือเพื่อความสวยงาม แต่เพื่อให้ฟันของคุณไม่มีปัญหา มีคำแนะนำที่ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาฝากค่ะ

หลังการจัดฟัน จนกระทั่งฟันเรียงตัวเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะถอดอุปกรณ์การจัดฟันออกและใส่เครื่องมือตัวใหม่ คือ “เครื่องมือคงสภาพฟัน” หรือรีเทนเนอร์ เนื่องจากกระดูกและเหงือกหุ้มฟันต้องใช้เวลาในการปรับสภาพเข้ากับตำแหน่งใหม่ จึงจำเป็นจะต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟันไว้ เพื่อประคองฟันไว้ไม่ให้เคลื่อนไปจากตำแหน่งที่จัดไว้เสร็จแล้ว

ปัญหาที่พบมากคือ ผู้จัดฟันมักไม่ใส่รีเทนเนอร์อย่างต่อเนื่อง บางรายถอดรีเทนเนอร์เองเพราะคิดว่าฟันเข้าที่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่อีก ทำให้เกิดปัญหาฟันเคลื่อนตัวกลับตำแหน่งเดิม เช่น ฟันห่าง หรือฟันล้มได้ ซึ่งปัจจุบันพบปัญหานี้มากขึ้น  ถ้าหากว่าฟันมีการเคลื่อนกลับไปมาก จะทำให้ใส่รีเทนเนอร์ไม่ลงที่ จึงจำเป็นจะต้องทำรีเทนเนอร์ใหม่  หรือในบางรายอาจต้องทำการจัดฟันใหม่เลยก็ได้

retainer-2รีเทนเนอร์ ใส่หลังจัดฟัน

รีเทนเนอร์

อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้แนะนำว่าควรใส่รีเทนเนอร์นานเท่าใด ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับลักษณะการเรียงตัวของฟันก่อนจัดฟัน โดยส่วนใหญ่แล้วในปีแรกหลังถอดเครื่องมือ ควรใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา ถอดได้เฉพาะเวลารับประทานอาหารและแปรงฟันเท่านั้น หลังจากนั้นทันตแพทย์จะแนะนำวิธีลดเวลาใส่รีเทนเนอร์ลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการใส่รีเทนเนอร์เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่งในการจัดฟัน เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไข้ในการใส่ ดังนั้น การจัดฟันให้ได้ผลสำเร็จสมบูรณ์นั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไข้ด้วย

ส่วนการดูแลทำความสะอาดเครื่องมือคงสภาพฟันให้ใช้งานได้นานคือ เรื่องแรก ต้องเก็บเครื่องมือคงสภาพฟันไว้ในกล่องบรรจุเฉพาะ ซึ่งในกล่องบรรจุควรให้มีความชื้น โดยอาจใช้สำลีหรือผ้าก๊อซสะอาดชุบน้ำชุ่มๆ ใส่ไว้ด้วย ไม่ควรถอดแล้วใช้กระดาษทิชชู่หรือใช้ผ้าห่อ  และไม่ควรทิ้งเครื่องมือคงสภาพฟันไว้ในรถหรือที่ร้อน  รวมถึงไม่ปล่อยให้เครื่องมือแห้งนานๆ นอกจากนี้ควรทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งก่อนใส่เครื่องมือในช่องปาก โดยใช้แปรงสีฟันแปรงที่เครื่องมือทั้งด้านนอก ด้านใน และลวด

ถ้ามีคราบเกาะติดที่เครื่องมือที่ไม่สามารถแปรงออกได้ ให้ใช้เม็ดฟู่ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดฟันปลอม ห้ามใช้ของมีคมขูดทำความสะอาด เพราะจะทำให้เครื่องมือชำรุดได้ และที่สำคัญ หากมีปัญหาในการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน ไม่ควรแก้ไขหรือหยุดใส่เครื่องมือเอง ควรมาพบทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อขอคำแนะนำหรือแก้ไขค่ะ

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook