ฝันร้ายของลูกน้อย ถ้าพ่อแม่ไม่ตรวจธาลัสซีเมีย

ฝันร้ายของลูกน้อย ถ้าพ่อแม่ไม่ตรวจธาลัสซีเมีย

ฝันร้ายของลูกน้อย ถ้าพ่อแม่ไม่ตรวจธาลัสซีเมีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธาลัสซีเมีย เชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยได้ยินชื่อโรคนี้กันมาบ้างตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนตอนประถมหรือมัธยม แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ เพราะยังเห็นว่าเป็นโรคที่พบเห็นผู้ป่วยในประเทศไทยได้น้อยอยู่ แต่หากพูดถึงความร้ายแรงของโรคนี้ ที่พร้อมจะส่งต่อจากคุณไปสู่เจ้าตัวน้อย โดยที่เจ้าตัวน้อยไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่เลยด้วยนั้น Sanook! Health อยากให้ทุกคนคิดใหม่ค่ะ โดยเฉพาะคู่แฟนที่กำลังวางแผนจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้ยิ่งต้องอ่านเลยล่ะ


ธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมีย คือโรคเลือดจาง เกิดจากการผิดปกติของการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

อาการของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย

หากผู้ป่วยเป็นลูกของเรา จะมีอาการตัวซีดเหลือง ตับโต ม้ามโต แคระแกรน จมูกแบน ฟันบนยื่น และท้องป่อง นอกจากนี้ร่างกายยังเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ กระดูกเปราะหักง่าย และเนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยเป็นระยะๆ จึงอาจทำให้เด็กต้องขาดเรียนบ่อย อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษายังสูง เพราะเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยากอีกด้วย

ธาลัสซีเมียแฝง เป็นพาหะ คืออะไร?

คือผู้ที่สุขภาพปกติ ไม่ได้เป็นโรคธาลัสซีเมีย แต่มียีนส์ของโรคแฝงอยู่ในตัว และสามารถถ่ายทอดโรคนี้ส่งต่อให้บุตรได้ ตามแผนการถ่ายทอดของยีนส์

ถ้าเราหรือแฟนมียีนส์แฝง หรือเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย จะมีโอกาสถ่ายทอดโรคธาลัสซีเมียให้บุตรมากน้อยแค่ไหน?

ตรวจหาความเสี่ยงในการถ่ายทอดโรคธาลัสซีเมียต่อลูกได้ จากการตรวจเลือดและวิเคราะห์หาความเสี่ยงโดยคุณหมอ โดยวิเคราะห์ง่ายๆ ดังนี้


หากคนหนึ่งปกติ อีกคนหนึ่งเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะ...
ปกติ 50%
เป็นพาหะ 50%



หากพ่อแม่เป็นพาหะทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะ...
ปกติ 25%
เป็นพาหะ 50%
เป็นโรคธาลัสซีเมีย 25%



หากคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนหนึ่งปกติ ลูกจะ...
เป็นพาหะ 100%



หากคนหนึ่งเป็นพาหะ อีกคนหนึ่งเป็นโรค ลูกจะ...
50% เป็นพาหะ
50% เป็นโรค

ถึงแม้ในบางครั้งความเสี่ยงในการถ่ายทอดพันธุกรรมโรคจากพ่อแม่สู่ลูกจะดูสูง แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ล้ำหน้าไปมากแล้ว หากอยากมีบุตรแต่ทราบความเสี่ยง ควรรีบปรึกษาแพทย์อย่างจริงจัง เพื่อมองหาวิธีป้องกัน และหลีกเลี่ยงโรคร้ายนี้แก่เจ้าตัวน้อยของเราในอนาคตกันนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 1 กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล กุมารแพทย์, Pathlab.co.th 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook