"ออกกำลังกาย" ตอนป่วย ทำได้หรือไม่?

"ออกกำลังกาย" ตอนป่วย ทำได้หรือไม่?

"ออกกำลังกาย" ตอนป่วย ทำได้หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ แต่ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อป่วยไข้ คนส่วนใหญ่มักไม่แน่ใจว่าออกกำลังกายได้หรือไม่ หาก ออกกำลังกายตอนป่วย จะทำให้อาการแย่ลงหรือเปล่า อย่างนั้นเราไปหาคำตอบกันเลย

ออกกำลังกายตอนป่วย ทำได้หรือไม่

ประโยชน์ข้อหนึ่งของการออกกำลังกายก็คือ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นปราการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บของร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่หากคุณกำลังป่วย หรือไม่สบาย การออกกำลังกายอาจไม่ได้ส่งผลดีกับสุขภาพเสมอไป อาการเจ็บป่วยบางประการสามารถออกกำลังกายได้ ในขณะที่บางอาการควรงดออกกำลังกาย และควรพักผ่อนจนกว่าจะหายดี ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ใช้ “คอ” เป็นเกณฑ์ในการให้คำแนะนำว่า อาการป่วยไข้ที่คุณเป็นนั้นสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ หากอาการเจ็บป่วยของคุณเกิดขึ้นที่อวัยวะซึ่งอยู่เหนือลำคอขึ้นไป แบบไม่รุนแรง คุณสามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ และคุณควรงดออกกำลังกายตอนป่วยเด็ดขาด หากอาการป่วยเกิดขึ้นที่อวัยวะต่ำกว่าลำคอลงมา

อาการป่วยที่ยังออกกำลังกายได้

  • เป็นไข้หวัดธรรมดา

  • ไอจามเบาๆ

  • คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล

  • เจ็บคอ

  • ปวดหู

 

อาการป่วยที่อย่าฝืนออกกำลังกาย

  • เป็นไข้หวัดใหญ่

  • มีไข้

  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

  • ไอมีเสมหะ

  • ไอแบบมีเสียงฟืดฟาดหรือเสียงหวีด (Wheezing cough)

  • เจ็บแน่นหน้าอก

  • คลื่นไส้

  • อาเจียน

  • ท้องเสีย

 

ป่วยอยู่ ออกกำลังกายอย่างไรดี

ในระหว่างเจ็บป่วย คุณควรลดระดับความเข้มข้นในการออกกำลังกายลง หันมาออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรหักโหม เช่น เดินแทนวิ่ง เล่นโยคะแทนการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการยกน้ำหนัก เพื่อให้ร่างกายสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ต้องทำงานหนักเกินไป หากคุณรู้สึกว่าออกกำลังกายแล้วอาการแย่ลง อย่าฝืนออกกำลังกายต่อ ควรหยุดพักทันที รอจนหายดีแล้วจึงค่อยกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง

 

หากอยากไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสตอนป่วย?

หากคุณป่วย เช่น เป็นไข้หวัด ทางที่ดีควรงดไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส เพราะฟิตเนสถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และเชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย แต่หากจำเป็นต้องออกกำลังกายตอนป่วยที่ฟิตเนสจริงๆ ควรล้างมือให้สะอาด เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ทั้งก่อนและหลังใช้ รวมไปถึงเช็ดมือด้วยเจลล้างมือระหว่างออกกำลังกาย หรือหลังไอจามทุกครั้ง เพื่อป้องกันตัวเองติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น

 

เมื่อไหร่จึงจะกลับไปออกกำลังกายได้ตามปกติ

สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นไข้หวัด หากไม่มีอาการแทรกซ้อน ไข้หวัดของคุณจะหายดีภายในเวลา 7 วัน แต่หากเป็นไข้หวัดใหญ่อาจต้องใช้เวลารักษาตั้งแต่ 10 วันถึง 2 สัปดาห์ หรือถ้าเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคไซนัสอักเสบหรือที่เรียกว่า โพรงจมูกอักเสบ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป กว่าอาการป่วยจะหายสนิท แม้แต่อาการไอรุนแรงหรือไอแบบมีเสมหะก็สามารถเป็นติดต่อกันได้นานหลายสัปดาห์หากไม่รักษาให้หายสนิท ดังนั้น หากมีอาการป่วยไข้ดังกล่าว คุณควรพักรักษาตัว กินยาตามที่คุณหมอสั่ง และพักผ่อนให้มากๆ เมื่ออาการป่วยหายดี ร่างกายฟื้นฟูเต็มที่แล้วจึงค่อยกลับไปออกกำลังกายตามรูปแบบปกติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook