การตรวจด้วย MRI คืออะไร? ตรวจอะไรได้บ้าง?

การตรวจด้วย MRI คืออะไร? ตรวจอะไรได้บ้าง?

การตรวจด้วย MRI คืออะไร? ตรวจอะไรได้บ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตรวจร่างกายประจำปีโดยทั่วไปที่หลายคนเคยตรวจมา อาจจะมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรืออุจจาระ เอกซ์เรย์ปอด ตรวจภายใน หรืออาจจะมีการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจตับ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจภายในเพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูก แต่นอกจากนี้ยังมีการตรวจอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า MRI ที่ไม่รวมอยู่ในแพกเกจตรวจร่างกายประจำปีโดยทั่วไป เพราะเป็นการตรวจที่ละเอียดกว่าปกติ และใช่เมื่อจำเป็นต้องตรวจจริงๆ เท่านั้น

 

MRI คืออะไร?

MRI ย่อมาจาก Magnetic Resonance Imaging คือ การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรคของผู้ป่วย เพื่อนำมาใช้ในการรักษา และติดตามผลการรักษา อาศัยคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของไฮโดรเจนอะตอม (Hydrogen,H) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่อยู่ภายในร่างกายมนุษย์ เช่น โมเลกุลของน้ำ (H2O) เป็นต้น

เมื่อผู้รับการตรวจเข้าไปอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องจะส่งสัญญาณคลื่นวิทยุที่มีความถี่จำเพาะ (Radiofrequency) เข้าไปกระตุ้นระบบอวัยวะที่จะตรวจ เมื่ออวัยวะนั้นๆ ถูกกระตุ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงระดับพลังงานตามขบวนการทางฟิสิกส์ ที่เรียกว่า การกำทอน (Resonance) หลังจากหยุดกระตุ้นไฮโดรเจน อะตอมภายในร่างกายมีการคายพลังงาน จะมีอุปกรณ์รับสัญญาณที่ได้ออกมา จากนั้นแปลงเป็นสัญญาณภาพบนจอภาพ

 

วิธีการตรวจร่างกายด้วย MRI

ในการตรวจด้วยเครื่อง MRI ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ ซึ่งจะมีความกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างไป ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ เช่นการตรวจระบบสมอง จะมีอุปกรณ์รับสัญญาณภาพครอบอยู่บริเวณศีรษะ กรณีตรวจกระดูกสันหลัง อุปกรณ์รับภาพจะวางอยู่ด้านหลังผู้ป่วย เป็นต้น ผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 นาที ถึงชั่วโมง ขึ้นกับระบบอวัยวะที่ต้องการตรวจ

การตรวจจะแบ่งเป็นชุดๆ ในแต่ละชุดใช้เวลานาน 3-5 นาที โดยประมาณ ในบางการตรวจ เช่น ระบบหัวใจและช่องท้อง ผู้ป่วยจะต้องมีการกลั้นหายใจ ในแต่ละชุดประมาณ 15-20 วินาที และจะต้องมีการเตรียมตัวเฉพาะ และการงดรับประทานยาประจำบางชนิด ก่อนเข้ารับการตรวจ โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งขั้นตอนในวันที่มานัดตรวจ

 

ข้อดีของ MRI

  • สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ชัดเจน เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ให้ความถูกต้อง และแม่นยำสูง เนื่องจากให้ความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี ทำได้หลายระนาบ

  • สามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ไม่ใช่กระดูก (non bony parts) คือเนื้อเยื่อ (soft tissues) เช่น ระบบสมอง กระดูกสันหลัง เส้นประสาทในร่างกาย (กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ฯลฯ)

  • การตรวจ MRI จะให้รายละเอียดได้ดีกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography, CT)

  • มีเทคนิคการตรวจพิเศษหลายแบบ เช่น การตรวจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบเฉียบพลัน การตรวจหาระดับชีวเคมี เพื่อแยกชนิดของก้อนเนื้อ และการตรวจหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นต้น

  • ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ แก่ร่างกายของคนไข้ รวมถึงไม่มีอันตรายจากรังสีตกค้าง เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับการฉีดสารทึบรังสีและการสวนสายยางเพื่อฉีดสี จึงมีความปลอดภัยสูงกว่า

  • มีประโยชน์มากในการตรวจผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากไม่มีอันตรายจากรังสี ที่เกิดจากการใช้เอกซเรย์

 

ข้อเสียของ MRI

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจในลักษณะอื่นๆ

  • การตรวจ MRI หนึ่งครั้ง จะเป็นการตรวจระบบอวัยวะหนึ่งระบบ เช่นการตรวจสมอง จะแสดงภาพของเนื้อเยื่อสมอง และอวัยวะอื่นๆ บริเวณสมอง จะไม่สามารถเห็นอวัยวะบริเวณช่องอกหรือช่องท้องได้ ดังนั้นการตรวจแต่ละครั้ง จะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนเข้ารับการตรวจ MRI โดยแพทย์จะเขียนใบส่งตรวจให้ว่าต้องการตรวจอวัยวะส่วนใด พร้อมแจ้งประวัติการตรวจร่างกายและการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับรังสีแพทย์ ในการแปลผลภาพ MRI ใช้ประกอบ

 

MRI ตรวจอะไรได้บ้าง?

  1. ศีรษะ

หาความผิดปกติของสมอง และเส้นประสาทในสมอง

 

  1. หน้าอก

หาความผิดปกติของบริเวณเต้านม และหัวใจ

 

  1. หน้าท้อง และกระดูกเชิงกราน

หาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในช่องท้อง มดลูก และรังไข่ในเพศหญิง ต่อมลูกหมากในเพศชาย

 

  1. กระดูก และข้อต่อ

หาความผิดปกติของกระดูก เส้นประสาทไขสันหลัง และกระดูกสันหลัง

 

  1. เส้นเลือด

ตรวจดูเส้นเลือด และการไหลเวียนของเลือด

 

ข้อควรระวังในการใช้บริการ MRI

  • หากเป็นคนที่กลัวการอยู่ในพื้นที่แคบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ควรหลีกเลี่ยงการตรวจ MRI หากมีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง (แบบเก่า) metal plates ในคนที่ดามกระดูก คนที่เปลี่ยนข้อเทียม ลิ้นหัวใจเทียม ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือฝังเครื่องทางการแพทย์อื่นๆ ที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ รวมถึงเหล็กดัดฟันด้วย (สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจ MRI บริเวณศรีษะถึงคอ)

  • ถอดเครื่องประดับ ของใช้ส่วนตัวออกจากร่างกายให้หมด รวมถึงลบเครื่องสำอางที่อาจมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อายชาโดว์ หรือมาสคาร่าออกด้วย เพราะมีผลต่อการตรวจ ที่อาจทำปฏิกิริยาทำให้ภาพตรวจออกมาไม่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการตรวจร่างกายที่ค่อนข้างละเอียด ใช้เวลาสักระยะ และสามารถตรวจได้เพียงส่วนๆ ไป ดังนั้นการเข้ารับการตรวจ MRI จึงจำเป็นต้องใช้เพื่อต้องการหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงในแต่ละโรค แต่ละส่วนของร่างกายในบางกรณีเท่านั้น เช่น CTScan หรืออัลตราซาวน์แล้วเห็นไม่ชัด เป็นต้น ดังนั้นหากต้องการใช้บริการ MRI แพทย์จะต้องเป็นผู้ลงความเห็นเองว่าจำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วย MRI และด้วยค่าใช้จ่ายที่มากกว่าปกติ ขอให้ผู้ป่วยปรึกษากับแพทย์ถึงเรื่องสิทธิ์ในการรักษาให้ดีก่อนเข้ารับบริการ (อยู่ราวๆ ที่ 8000-12,000 บาทต่อครั้ง ต่อ 1 ส่วนอวัยวะในร่างกาย)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook