โกนขนอย่างไร เสี่ยง “ขนคุด”?

โกนขนอย่างไร เสี่ยง “ขนคุด”?

โกนขนอย่างไร เสี่ยง “ขนคุด”?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ใครที่ไม่เคยเป็นขนคุดเลยถือว่าโชคดีมาก เพราะได้เป็นเจ้าของผิวเนียนเรียบสวยไปตลอดทั่วเรือนร่าง แต่หากใครที่รู้จักมักจี่กับเจ้า “ขนคุด” นี้เป็นอย่างดี คงจะต้องเสียใจ และกังวลใจว่าเจ้าขนคุดนี้ทำให้ผิวหนังเป็นปุ่มนูนไม่สวยงาม

แต่คุณทราบหรือไม่ว่า ขนคุด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ภาวะขนคุด เกิดจากการที่เส้นขนเติบโตออกมาไม่พ้นผิวหนังเหมือนกับขนเส้นอื่นๆ ทำให้เส้นขนงอกแทงกลับเข้าไปในผิวหนัง เส้นขนเจริญเติบโตอยู่ภายใต้ผิวหนังจนทำให้ผิวหนังปูดออกมาเป็นตุ่มเล็กๆ ลูบผิวดูแล้วรู้สึกได้

  2. โรคขนคุด เกิดจากการที่เส้นขนไม่สามารถเติบโตออกมาผ่านรูขุมขน และผิวหนังชั้นนอกได้ เพราะมีเคราตินอัดแน่นอยู่ในรูขุมขน ทำให้รูขุมขนอุดตัน

 

โรคขนคุด

โรคขนคุด (Keratosis Pilaris) เกิดจากความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ที่ส่งผลให้บริเวณนั้นเกิดการสะสมของเคราตินจนเข้าไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เส้นขนไม่สามารถออกมางอกเหนือพ้นรูขุมขนที่บริเวณชั้นผิวด้านนอกได้ สัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพบโรคขนคุดในคนที่ป่วยโรคภูมิแพ้ และหากใครที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคขนคุด ก็จะมีความเสี่ยงในโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆ เพราะเป็นโรคที่สืบทอดผ่านพันธุกรรมได้นั่นเอง

โรคขนคุด อาจเจอได้บ่อยในวัยรุ่น ทั้งเพศหญิง และเพศชาย อายุ 13-23 ปี และจะมีอาการเป็นๆ หายๆ แต่อาการทั้งหมดจะดีขึ้น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น

 

ภาวะขนคุด

ภาวะขนคุดที่ผู้หญิงหลายๆ คนเป็นกันอยู่ เกิดจาก

  • ลักษณะของเส้นขนของบางคนที่อาจมีเส้นขนที่ใหญ่ หยิก หรือสั้น และเอียงทิ่มแทงภายใต้ผิวหนังได้

  • ลักษณะผิวหนัง บริเวณข้อพับ ขาหนีบ หรือบริเวณที่มีการเสียดสี กดทับ บริเวณเหล่านี้จะเกิดขนคุดได้ง่ายกว่าปกติ

  • ความชุ่มชื้นของผิว หากเป็นคนผิวแห้ง จะมีการสะสมของเคราตินอยู่บนผิวมากกว่าปกติ อาจทำให้ขนมุดเข้าไปเติบโตในผิวหนังได้ง่าย

  • สภาพอากาศ หากเป็นในฤดูหนาว หรืออากาศเย็น ช่วงที่มีผิวแห้ง ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดขนคุดได้มากกว่าช่วงอื่นๆ

  • การโกน การถอน หากทำผิดวิธี ก็อาจทำให้เกิดขนคุดได้ง่ายขึ้น สาเหตุนี้ทำให้ภาวะขนคุดเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะโกนขนบ่อยกว่า

 

โกนขนอย่างไร เสี่ยงขนคุด?

การโกนย้อนแนวขน แม้ว่าหลายคนจะคิดว่าทำให้โกนขนได้เรียบเนียนมากยิ่งขึ้น แต่การโกนย้อนแนวขนทำให้เส้นขนเหลือสั้นมากเกินไป จนทำให้มีความเสี่ยงที่เส้นขนจะงอกแล้วมุดเข้าไปโตในผิวหนังจนกลายเป็นขนคุดได้ นอกจากนี้การโกนขนด้วยใบมีด 2-4 ชั้น ที่ช่วยให้โกนขนได้เรียบเนียนขึ้น หมายถึงการโกนขนให้สั้นมากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดขนคุดตามมาได้เช่นกัน

 

อาการขนคุด

ขนคุดที่เกิดจากภาวะขนคุด จะเห็นเป็นตุ่มนูนขึ้นมาจากผิวหนังปกติ เพราะเกิดจากเส้นขนย้อนกลับไปงอกใต้ผิวหนัง อาจเกิดเป็นตุ่มแดงอักเสบ และมีอาการเจ็บเล็กน้อยได้ เพราะเส้นขนที่งอกยาวใต้ผิวหนังตลอดเวลาทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้

สำหรับขนคุดที่เกิดจากโรคขนคุด ที่เกิดจากเส้นขนไม่สามารถออกมางอกเหนือพ้นรูขุมขนที่บริเวณผิวชั้นนอกได้ เนื่องจากรูขุมขนอุดตันจากเคราตินที่เข้าไปสะสมอยู่  จะเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ ไม่เรียบเนียน เหมือนหนังไก่ที่ถูกถอนขน อาจมีอาการคันเล็กน้อย หรือไม่มีอาการคันเลยก็ได้ หากมีอาการรุนแรงอาจพบเป็นตุ่มแดงอักเสบได้เช่นกัน

 

วิธีรักษาขนคุด

ปกติแล้วอาการขนคุดสามารถหายไปได้เองเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่หากมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด และทำการรักษาตามขั้นตอน และอาการที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาลดเคราตินเพื่อลดการอุดตันบริเวณรูขุมขน หรือหากเป็นขนคุดที่มีการอักเสบ และติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ต้องเพาะเชื้อให้ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดใด และให้ยารักษาให้ถูกชนิด เป็นต้น

 

วิธีป้องกันโรคขนคุด

  1. อย่าปล่อยให้ผิวแห้งจนเกินไป รักษาความชุ่มชื้นของผิวด้วยการทาโลชั่นบำรุงผิว โดยเฉพาะบริเวณที่ผิวแห้งมาก สามารถทาซ้ำได้ตลอดทั้งวัน

  2. สำหรับคนที่มีผิวแห้ง หรือผิวแพ้ง่าย ควรเลือกใช้สบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน หรือสบู่เด็กในการอาบน้ำ

  3. ไม่ควรอาบน้ำอุ่น หรือน้ำที่ร้อนจัดจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งยิ่งกว่าเดิม

  4. ไม่ควรแกะ ขัด หรือถูผิวแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดรอยแผลเป็นได้มากขึ้น

  5. ควรเลือกใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อลดการเสียดสีกันในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการขนคุด หากมีขนคุดอยู่แล้ว ก็จะช่วยลดการอักเสบบวมแดงได้

  6. โกน หรือถอนขนตามแนวขน ไม่ย้อนแนวเส้นขน และใช้ใบมีดชั้นเดียว ไม่โกนจนสั้นเกินไป อาจไม่เกลี้ยงเกลานัก แต่ช่วยไม่ให้ขนเหลือสั้น หรือแข็งจนเกินไป จนเสี่ยงต่อขนคุด

  7. เลือกวิธีกำจัดขนอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ และรบกวนผิวหนังน้อยลง เช่น เลเซอร์ เป็นต้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook