"ใบบัวบก" ไม่ต้องช้ำในก็กินได้ มีประโยชน์สุขภาพสารพัดอย่าง

"ใบบัวบก" ไม่ต้องช้ำในก็กินได้ มีประโยชน์สุขภาพสารพัดอย่าง

"ใบบัวบก" ไม่ต้องช้ำในก็กินได้ มีประโยชน์สุขภาพสารพัดอย่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใบบัวบก พืชพื้นบ้านที่เรามักได้ยินถึงสรรพคุณ "แก้ช้ำใน" ของ "น้ำใบบัวบก" ที่หากินกันได้ยากขึ้นทุกทีในทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณค่าของใบบัวบกจะถูกมองข้ามไป เพราะวงการแพทย์ในสหรัฐฯ และยุโรปต่างก็กำลังหันมาสนใจพืชสมุนไพรชนิดนี้กันมากขึ้น และทุกวันนี้ หากเราสำรวจดูร้านขายสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ก็อาจจะได้เห็นสารสกัดใบบัวบกกลายมาเป็นยาสมุนไพรหรืออาหารเสริม ที่อาจทำให้หลายคนสนใจอยากจะลอง แต่ลองอ่านเรื่องนี้ดูก่อน เพราะใบบัวบกก็เหมือนสมุนไพรชนิดอื่น ที่อาจมีประโยชน์ แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ต้องระวังเช่นกัน

 

ขอแนะนำให้รู้จักกับ “ใบบัวบก”

ใบบัวบก (Gotu Kola หรือ Centella asiatica) เป็นพืชพื้นถิ่นของเอเชีย หลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย ต่างก็ใช้ประโยชน์จากใบบัวบกมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งประเทศจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย (อายุรเวท) โดยเชื่อกันว่าใบบัวบกมีสรรพคุณที่หลากหลาย ทั้งส่งเสริมการทำงานของสมอง เยียวยาผิว และบำรุงตับและไต ซึ่งสรรพคุณเหล่านี้ของใบบัวบก ก็ดูจะได้รับการยืนยันจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาวิจัยในหนูทดลอง และยังต้องการงานวิจัยเพื่อพิสูจน์เพิ่มเติม แต่ก็ดูเหมือนว่า ใบบัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่ปลอดภัย และน่าสนใจสำหรับการเยียวยาอาการโรคบางอย่าง หากก็มีคำเตือนจากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ในสหรัฐฯ ว่า ไม่ควรกินสมุนไพรชนิดนี้นานกว่าหกสัปดาห์ติดต่อกัน โดยไม่ปรึกษาแพทย์ และผู้ที่มีประวัติโรคตับหรือเคยมีรอยโรคมะเร็งผิวหนังไม่ควรกิน

 

ประโยชน์ ดีๆ ของ ใบบัวบก

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันถึงประโยชน์สุขภาพหลายอย่างของใบบัวบก โดยเฉพาะในเรื่องเหล่านี้

  1. ช่วยเยียวยาเส้นเลือดขอด

ใบบัวบกมีสารเคมีที่เรียกว่า TTFCA (triterpenic fraction of Centella asiatica)เป็นสารเคมีที่มีประโยชน์ต่ออาการเส้นเลือดขอด เนื่องจากกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่จำเป็นในการสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุและผนังเส้นเลือด เส้นเลือดที่แข็งแรงทำให้มีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดน้อยลง คอลลาเจนและอิลาสตินก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของผิวสุขภาพดี ที่มักสูญเสียไปเมื่ออายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของใบบัวบกในการรักษาเส้นเลือดขอด ยังไม่ได้รับการยืนยันโดยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ใบบัวบกยังอาจช่วยเรื่องภาวะเลือดไปเลี้ยงหลอดเลือดดำไม่เพียงพอ ด้วยการลดอาการบวมและเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ภาวะเลือดไปเลี้ยงหลอดเลือดดำไม่เพียงพอเป็นอาการโรคซึ่งเลือดของคุณไหลเวียนไม่ดี อาจเกิดจากเส้นเลือดขอด และยังมีส่วนในการทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดูของเส้นเลือดเหล่านี้ด้วย 

  1. ช่วยในการสมานแผล

สารเคมีที่เรียกว่าไตเตอร์ปิโนอิดส์ (triterpenoids) ในใบบัวบก ดูจะช่วยเร่งการสมานแผลให้หายเร็วขึ้น ด้วยการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในบริเวณที่เป็นแผล ทำให้ผิวแข็งแรง และเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังบริเวณแผล การศึกษาในปี 2006 ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Journal of Lower Extremity Wounds ได้สำรวจผลกระทบของใบบัวบกที่มีต่อแผลในหนูทดลอง และพบว่าแผลที่รักษาโดยใบบัวบกนั้น หายเร็วกว่าแผลที่ไม่ได้รับการรักษา ถึงแม้จะยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ แต่นี่ก็ดูจะยืนยันถึงประโยชน์ของสมุนไพรชนิดนี้ในฐานะของยารักษาแผล 

  1. ลดอาการวิตกกังวล

การศึกษาในสัตว์ทดลองเมื่อปี 2016 พบว่า ใบบัวบกส่งผลต่อหนูตัวผู้ที่อดนอนเป็นเวลา 72 ชั่วโมง การนอนไม่พอเป็นสาเหตุของอาการวิตกกังวล เกิดความเสียหายจากการออกซิเดชั่น และเส้นประสาทอักเสบ เมื่อหนูได้รับสารสกัดใบบัวบกติอต่อกันห้าวัน ก่อนถูกทำให้อดนอน จะมีพฤติกรรมที่แสดงถึงอาการวิตกกังวลน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในวารสาร Journal of Clinical Psychopharmacology เมื่อปี 2000 ผู้ป่วยที่กินสารสกัดใบบัวบกมีอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงใหม่ที่ได้ยินลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กิน 

  1. บำรุงสมอง

การศึกษาชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2016 ซึ่งเปรียบเทียบผลของการกินสารสกัดใบบัวบกและกรดโฟลิก ในการเพิ่มการทำงานของกระบวนการเกี่ยวกับการรับรู้ของสมอง หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ถึงแม้ผลของสารสกัดใบบัวบกกับกรดโฟลิกจะมีประโยชน์พอๆ กัน ในการปรับปรุงการทำงานของสมองในเรื่องที่เกี่ยวกับการรับรู้ แต่ใบบัวบกดูจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในการปรับปรุงการทำงานของส่วนที่เกี่ยวกับความจำ ประสิทธิภาพในด้านนี้และการทำงานของระบบประสาท ทำให้ใบบัวบกมีแนวโน้มในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ ในการศึกษาเมื่อปี 2012 ในหนูทดลองพบว่า สารสกัดใบบัวบกส่งผลในแง่บวกต่อพฤติกกรรมผิดปกติในหนูที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ สารสกัดใบบัวบกยังแสดงให้เห็นในการศึกษาในแล็บและในหนูทดลองว่า มีผลกระทบปานกลางต่อการปกป้องเซลล์สมองจากสารพิษ ซึ่งนี่อาจจะช่วยปกป้องเซลล์สมองจากคราบพลาคที่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์ได้ 

  1. เยียวยาข้อต่ออักเสบ

คุณสมบัติต้านอักเสบของใบบัวบก อาจมีประโยชน์ต่อการรักษาโรคข้อต่ออักเสบ เนื่องจากมีงานวิจัยในปี 2014 ที่พบว่าหนูทดลองที่กินใบบัวบก มีการอักเสบที่ข้อต่อลดลง และการสึกกร่อนของกระดูกและกระดูกอ่อนลดลง 

  1. เยียวยาผิวแตกลาย

จากการรีวิวงานวิจัยเมื่อปี 2013 ใบบัวบกสามารถลดริ้วรอยของผิวแตกลายได้ เชื่อกันว่าสารไตเตอปิโนอิดส์ในใบบัวบก ที่ช่วยเพิ่มการสร้างคอลลาเจนในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผิวแตกลายได้ รวมไปถึงการเยียวยารอยแตกลายที่มีอยู่ก่อนแล้วด้วย

 

ผลข้างเคียงของใบบัวบก

การรับประทานใบบัวบกในรูปของสารสกัดที่ขนาด 300มก.เป็นเวลา 21 วันในมนุษย์ ไม่พบผลข้างเคียง แต่ในบางคนพบว่า การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของใบบัวบกสกัดอาจทำให้เกิดอาการคันผิว และหากดื่มใบบัวบกในรูปของชามากเกินไป ก็พบว่าอาจมีอาการคลื่นไส้ ง่วงซึม ปวดศีรษะ หรือความดันเลือดต่ำได้ ผลข้างเคียงของใบบัวบกพบได้ยาก แต่ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงมักปรากฏในรูปของอาการภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และง่วงซึม ซึ่งมักจะเกิดในกรณีที่รับประทานในปริมาณสูงมากๆ ไม่แนะนำให้เด็กรับประทานใบบัวบก รวมทั้งผู้ใหญ่วัย 65 ปีขึ้นไป ก็ควรรับประทานแต่น้อย ใบบัวบกอาจปลอดภัยสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ ในกรณีที่ใช้ทาลงบนผิว แต่ไม่ควรรับประทาน เพราะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดถึงความปลอดภัยในการกินใบบัวบก รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลว่าปลอดภัยสำหรับสตรีที่กำลังในนมบุตร เพราะฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยง ผู้ที่เป็นโรคตับ ไม่ควรรับประทาน เพราะมีข้อกังวลอยู่ว่าใบบัวบกอาจทำลายตับได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคตับ เช่น ตับอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงใบบัวบก เนื่องจากอาจทำให้อาการแย่ลงได้ นอกจากนี้สำหรับผู้ที่รับการผ่าตัด ใบบัวบกอาจทำให้กิดอาการง่วงซึมได้ โดยเฉพาะเมือใช้กับยาที่ในระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด ดังนั้น จึงควรหยุดใช้บัวบกสองสัปดาห์ก่อนการผ่าตัด

 

ปฏิกิริยากับยาที่ควรระวัง

หากคุณกินยาบางชนิดอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินสารสกัดใบบัวบก เนื่องจากใบบัวบกอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ได้แก่

  • ยาที่ส่งผลต่อตับ เนืองจากใบบัวบกมีสารที่อาจทำร้ายตับได้ การกินร่วมกับยาโรคตับจึงอาจทำให้เกิดความเสียหายแต่ตับได้

  • ยาลดคอเลสเตอรอล (รวมทั้งยาสแตติน) ในการศึกษาในสัตว์ทดลอง ใบบัวบกทำให้ระดับคอลเสเตอรอลสูงขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้เกิดแบบเดียวกันในมนุษย์ ถึงแม้จะยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ก็ตาม

  • ยาเบาหวาน จากการทดลองในสัตว์ ใบบัวบกดูจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกินใบบัวบก

  • ยาขับปัสสาวะ ใบบัวบกอาจทำหน้าที่คล้ายยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขับน้ำส่วนเกินออกไป การรับประทานใบบัวบกคู่กับยาขับปัสสาวะ จึงอาจทำให้ร่างกายขับน้ำออกมามากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของระดับอิเลคโทรไลต์ในร่างกาย

  • ยาระงับประสาท เนื่องจากใบบัวบกสามารถออกฤทธิ์คล้ายยาระงับประสาท จึงอาจทำให้ยารักษาโรควิตกกังวลหรือโรคนอนไม่หลับมีฤทธิ์แรงขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook