"จันทน์ลีลา"ลดไข้ เทียบเท่าพาราฯจริงหรือ?

"จันทน์ลีลา"ลดไข้ เทียบเท่าพาราฯจริงหรือ?

"จันทน์ลีลา"ลดไข้ เทียบเท่าพาราฯจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มติชน 12 ก.ย. 2558 โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์ warunee11@yahoo.com

กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันในสังคม หลังจากมีกระแสข่าวว่าองค์การเภสัชกรรม (อภ.) อยู่ระหว่างผลักดันให้ "ยาจันทน์ลีลา" ซึ่งเป็นสูตรตำรับยาไทยที่มีสรรพคุณลดไข้และมีใช้กันมานมนานเป็นยาทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่มีอาการตัวร้อนหรือเป็นไข้ นอกเหนือจากการใช้ยาแผนปัจจุบันรักษา โดยเหตุที่ยังต้องถกเถียงกัน เนื่องเพราะมีบางส่วนยังไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของยาแผนไทย

เรื่องนี้ ภญ.ปิยพร พยัฆพรมา ผู้รับผิดชอบกลุ่มวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาของ อภ.ได้ให้ข้อมูลว่า ยาจันทน์ลีลาเป็นยาแผนไทยที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีการศึกษาวิจัยแล้วพบว่ามีสรรพคุณลดไข้ได้ไม่แตกต่างจากยาพาราเซตามอล อีกทั้งไม่พบการก่อพิษระยะสั้นและระยะกึ่งเรื้อรัง โดยขณะนี้ยาจันทน์ลีลาได้ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการและคณะกรรมการพิจารณายา จัดให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน และบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว

สำหรับตำรับยาจันทน์ลีลา ประกอบด้วย สมุนไพรต่างๆ อาทิ แก่นจันทร์แดง แก่นจันทร์ขาวหรือจันทร์ชะมด รากปลาไหลเผือก บอระเพ็ด โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา ลูกกระดอม พิมเสน เป็นต้น ปัจจุบันนำมาผลิตในรูปของยาแคปซูล ยาผง และยาเม็ด ทั้งนี้ เนื่องจากยาจันทน์ลีลาเป็นยาชื่อสามัญ จึงเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการทั่วไปที่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในการควบคุมมาตรฐาน

ภญ.ปิยพรกล่าวอีกว่า กว่าที่ยาดังกล่าวจะถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติได้มีการทำวิจัยมากมาย เช่น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของตำรับจันทน์ลีลาในกระต่ายพันธุ์ตาแดงเพศผู้ที่ถูกชักนำให้เกิดไข้ พบว่าเมื่อให้ยาขนาด 400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถลดไข้ได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 หลังได้ยา และออกฤทธิ์ต่อเนื่องถึงชั่วโมงที่ 4 ซึ่งเทียบได้กับยาลดไข้ทั่วไป นอกจากนี้ยังศึกษาพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง ได้ศึกษาในหนูทดลอง โดยให้ยาขนาด 5 กรัมต่อกิโลกรัมครั้งเดียว พบว่าไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน และเมื่อทำการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังเป็นระยะเวลา 90 วันก็ไม่พบพิษเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยไข้หวัด จำนวน 18 คน โดยให้รับยาขนาด 500 มิลลิกรัมทุก 4 ชั่วโมง พบว่าออกฤทธิ์ลดไข้ได้เทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน แต่จะลดไข้ได้ในชั่วโมงที่ 12 และจะดีขึ้น คือ ไข้ลด และอุณหภูมิความร้อนลดลงด้วยในชั่วโมงที่ 16 สรุปว่ายาจันทน์ลีลาลดไข้ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา เนื่องจากเป็นสมุนไพร การออกฤทธิ์จึงไม่รวดเร็ว

"ยาดังกล่าว หากเป็นยาเม็ด ผู้ใหญ่กินเฉลี่ย 2-4 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ส่วนในเด็กอายุ 6-12 ปี กินครั้งละ 1-2 เม็ด และแนะนำให้หญิงที่มีไข้ทับระดูหรือมีไข้ระหว่างมีประจำเดือนกินยานี้่ ไม่แนะนำให้ผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกกิน เพราะเกรงว่าอาจจะไปบดบังอาการของโรคไข้เลือดออก แต่หากกินยา 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์" ภญ.ปิยพรกล่าว

ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่ายาพาราเซตามอลถือเป็นยาที่ปลอดภัยที่สุดในบรรดายาแก้ปวดหรือยาลดไข้อื่นๆ อาทิ ยาเอ็นเซด (NSAIDs) ยากลุ่มค็อกทูอินฮิบิเตอร์ (COX II inhibitors) ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้อันตรายมากกว่า และหากกินในปริมาณมากเป็นเวลานานมีโอกาสที่ยาจะออกฤทธิ์กัดกระเพาะอาหารและทำให้ไตวาย อย่างไรก็ตาม การกินยาพาราเซตามอลนั้นจะต้องมีปริมาณที่จำกัดและเหมาะสม โดยผู้ใหญ่น้ำหนักตัวเกิน 50 กิโลกรัม ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อครั้ง หรือ 2 เม็ด หากคิดเป็นวันต้องกินไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 2 วัน ดังนั้น จึงแนะนำว่าหากกินยาพาราเซตามอลเกิน 1 วันครึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด ส่วนยาจันทน์ลีลานั้น จากข้อมูลพบว่าเป็นยาที่มีส่วนผสมของสมุนไพรถึง 11 ชนิด และเป็นตำรับยาไทยที่ใช้กันมา แต่มองว่าขึ้นชื่อว่าเป็นยากินมากๆ ย่อมไม่ดี และยาทุกตัวย่อมมีทั้งประโยชน์และโทษ

ขณะที่ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยาจันทน์ลีลาเป็นยาลดไข้และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แสดงว่าผ่านการวิจัยทั้งระดับห้องปฏิบัติการ สัตว์ทดลอง และวิจัยในคน ทั้งนี้ จากการวิจัยไม่พบผลข้างเคียงและไม่ก่อพิษในตับ แต่ที่มีหลายคนยังกังวลว่าสมุนไพรมีพิษต่อตับนั้นเป็นเพราะว่ายังกินไม่ถูกวิธี จึงแนะนำว่า หากต้องการกินตำรับยาสมุนไพรใดๆ ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกด้วย

"ส่วนที่มีบางกลุ่มไม่พอใจ และกลัวว่าจะมีการนำยาจันทน์ลีลาไปใช้ทดแทนยาพาราฯนั้น ผมว่าวันนี้ทุกฝ่ายต้องเปิดใจ เพราะเป็นคนละตลาดกัน ยาพาราฯเป็นยาแผนปัจจุบัน มีการใช้กันอยู่แล้วโดยทั่วไป แต่ในทางแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกก็ยังใช้ยาจันทน์ลีลากันอยู่เช่นกัน

ที่สำคัญมีการใช้มานานนับร้อยปี" นพ.ธวัชชัยกล่าว

ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดใดล้วนมีประโยชน์ และอาจมีโทษหากใช้ไม่ตรงตามข้อบ่งชี้ สิ่งสำคัญ ดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคดีที่สุด...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook