แขนขาชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว สัญญาณอันตราย "หลอดเลือดสมอง"

แขนขาชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว สัญญาณอันตราย "หลอดเลือดสมอง"

แขนขาชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว สัญญาณอันตราย "หลอดเลือดสมอง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อผู้ป่วยเกิด โรคหลอดเลือดสมอง จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อสมองบริเวณนั้น ทำให้การทำงานของสมองเกิดความผิดปกติหรือสูญเสียไป

“หากท่านมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว กลืนลำบาก พูดไม่ออก ฟัง ไม่เข้าใจภาษา เห็นภาพซ้อน เดินเซ ตามัว ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน เป็นในทันทีทันใด” ขอให้รีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

หลอดเลือดสมองตีบ ตัน พบได้ 80 – 85 % สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้

เกิดในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ผนังหลอดเลือดด้านในหนาตัวขึ้นจากคราบไขมันคอเลสเตอรอลสะสม ผนังหลอดเลือดเหล่านี้จะเสียความยืดหยุ่น ปริแตกง่าย เมื่อมีการไหลเวียนของเลือดไปกระแทกที่ผนังหลอดเลือด จะเกิดแผลเล็กๆที่ผนังหลอดเลือดด้านในได้ง่าย ร่างกายจะสร้างเกล็ดเลือดและพังผืดไปซ่อมแซม ทำให้คราบสะสมเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนอุดตันหลอดเลือดในที่สุด

เกิดจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นบริเวณอื่น เช่นหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ หลุดไปตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง

เกิดจากโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น หลอดเลือดอักเสบ โรคการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ การปริแตกของเยื่อบุหลอดเลือดด้านใน เป็นต้น

หลอดเลือดสมองแตก พบได้ 15 – 20 % เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง มีความเสื่อม หรือเสียความยืดหยุ่น ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นโป่งพองและแตกออก เมื่อเกิดหลอดเลือดสมองแตก ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อสมอง เกิดความทุพพลภาพ หรือบางกรณีอาจอันตรายมากจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

เพราะอะไรหลอดเลือดสมองถึงตีบ แตก ตัน

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองมากยิ่งขึ้น ได้แก่

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ อายุ เพศ พันธุกรรม

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ใครที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากขึ้นไปอีก

ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง?

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มักเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน ดังนั้นการป้องกันโดยการลดปัจจัยเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น ความดัน เบาหวาน ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และมีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว รับประทานอาหารประเภทกากใยให้มากขึ้น รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เป็นแล้วต้องทำอย่างไร?

สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน เฉียบพลัน ปัจจุบันมียาสลายลิ่มเลือด ( rtPA : recombinant tissue plasminogen activator) เพื่อใช้รักษาภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน จากการศึกษาถึงประโยชน์จากการที่ได้รับยานี้ เมื่อติดตามผู้ป่วยเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา ผลปรากฏว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยโอกาสที่จะฟื้นตัวจากความพิการสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยา 30 % นับจากเริ่มเป็น จนถึงการวินิจฉัยและให้ยา ต้องอยู่ภายในไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง แพทย์จะต้องประเมินแล้วว่าไม่มีข้อห้ามต่างๆ ในการใช้ยา และมีการตรวจเลือดตามข้อกำหนดมาตรฐาน รวมถึงผลเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะต้องยืนยันชัดเจน ว่าไม่มีเลือดออกในสมองก่อนให้ยา เพราะฉะนั้นต้องทราบเวลาที่เริ่มเกิดอาการอย่างชัดเจน และผู้ป่วยควรรีบมาให้ถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากกระบวนการวินิจฉัยตลอดจนการตรวจผลเลือดตามมาตรฐานที่กำหนดต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

หัวใจสำคัญของการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ ให้รีบเข้ามารับการรักษาอย่างด่วนจี๋ภายใน 4.5 ชั่วโมง หากใครมีอาการดังกล่าวอย่านิ่งนอนใจปล่อยไว้ จนสายเกินไป ปัจจุบันมียาสลายลิ่มเลือดที่ให้ผลการรักษาได้ผลดี แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพิ่มโอกาสหายกลับไปเป็นปกติได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานสมองเสียหายมาก โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตถาวรจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นยิ่งมาเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น Stroke Fast Track ยิ่งเร็ว… ยิ่งมีโอกาสรอด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook