พืชผัก และสมุนไพรต้านโรคหวัด

พืชผัก และสมุนไพรต้านโรคหวัด

พืชผัก และสมุนไพรต้านโรคหวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคหวัดเป็นโรคที่คนเราป่วยบ่อยที่สุด โดยสิ่งที่เป็นอาการของโรคนี้ที่เด่นชัดก็คือ น้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ และหายใจลำบาก และยิ่งในหน้าฝนแบบนี้ Tonkit360 จึงมีความรู้ดีๆ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับพืชผักและสมุนไพรใกล้ตัว ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด ลดอาการไอ การระคายคอจากเสมหะมาฝากกัน จะมีพืชผักและสมุนไพรชนิดใดบ้างไปดูกันเลย

  1. ต้นหอม 

    ต้นหอม หรือ หอมต้นเดี่ยว เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กตระกูลเดียวกับกระเทียม อยู่ในสกุล Allium มีหัวสีขาวและปนสีม่วงบ้างอยู่ใต้ดิน ใบเป็นท่อยาวปลายแหลม ออกดอกเป็นช่อมีสีขาว เมื่อช่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายร่ม และมีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ต้นหอมกินได้ทั้งใบ ดอก และหัว มีกลิ่นฉุนและรสชาติซ่า นิยมนำไปกินเป็นผักเคียงกับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ข้าวหมูแดง ส่วนใบใช้ตกแต่งโรยหน้าอาหาร และใส่ในต้ม ผัด ยำ แกงต่างๆ หรือนำไปดอง ต้นหอมช่วยในการขับเหงื่อและบำรุงหัวใจ ถ้ากินสดๆ อย่างต่อเนื่องสามารถลดไขมันในเส้นเลือดได้ หากนำต้นหอม 5-6 ก้าน ต้มกับขิง 2 แว่นแล้วกรองน้ำดื่ม จะช่วยขับเหงื่อ ลดไข้ได้ สรรพคุณทางยาของต้นหอมก็คือ ช่วยแก้หวัด ลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และสามารถนำต้นหอมมาต้มจนเดือดแล้วสูดไอระเหย เพื่อช่วยให้หวัดหายเร็วขึ้นได้


  2. ขิง 

    ขิง เป็นพืชล้มลุกมีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว มีดอกสีขาวออกรวมกันเป็นช่อคล้ายรูปเห็ด ขิงขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี และมีอยู่หลายชื่อตามแต่ละถิ่น

    ขิงใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้นและมีสรรพคุณดังนี้ เหง้ามีรสหวานเผ็ดร้อน แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ โดยสามารถนำเหง้าขิงแก่มาทุบหรือบดเป็นผงแล้วชงน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน จุกเสียดแน่นเฟ้อได้ดี ส่วนเหง้าสดสามารถนำมาตำคั้นเอาน้ำขิง ผสมกับน้ำมะนาวเติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะได้ ลำต้นมีรสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม แก้ท้องร่วงได้ ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้ฟกช้ำ แก้ขัดปัสสาวะได้ ดอกมีรสเผ็ดร้อน ช่วยย่อยอาหารได้ รากมีรสหวานเผ็ดร้อนขม ช่วยเจริญอาหารได้ ผลมีรสหวานเผ็ดเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้งได้ แก่นสามารถนำมาฝนแล้วทำยาแก้คันได้

  3. เมล็ดเพกา

    เพกา 
    เป็นพืชในวงศ์แคหางค่าง เป็นผักที่อยู่ในหมวดดอกฝัก มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ คือดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ ดุแก เบโด มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิ้นฟ้า หมากลิ้นฟ้า บ่าลิ้นไม้ เพกาเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย โดยพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป ส่วนที่คนไทยนิยมนำมารับประทานเป็นผัก คือยอดดอกอ่อนที่มีสีเหลืองอ่อน และฝักอ่อนที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน โดยนำมาลวก ต้ม ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ซึ่งส่วนที่นำมาใช้บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลนั้นก็คือ เมล็ด เมล็กเพกานี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของน้ำจับเลี้ยงที่คนจีนใช้ดื่มแก้ร้อนใน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ วิธีการคือนำเมล็ดเพกาประมาณหนึ่งกำมือ หรือประมาณ 3 กรัม ใส่ในน้ำปริมาณ 300 มิลลิลิตรแล้วต้มด้วยไฟอ่อน พอเดือดเคี่ยวต่อประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วดื่มวันละ 3 ครั้งจะช่วยให้อาการไข้หวัด และอาการระคายคอจากเสมหะลดลงได้

     


    นอกจากพืชผักสมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว การหมั่นดูแลรักษาสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำที่สะอาด ก็เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนแน่นอน สุดท้ายนี้ก็อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างให้ดีอยู่เสมอนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook