ญี่ปุ่นทดลองใช้สเต็มเซลล์ตั้งโปรแกรมให้กับสมองเพื่อรักษา "โรคพาร์กินสัน"

ญี่ปุ่นทดลองใช้สเต็มเซลล์ตั้งโปรแกรมให้กับสมองเพื่อรักษา "โรคพาร์กินสัน"

ญี่ปุ่นทดลองใช้สเต็มเซลล์ตั้งโปรแกรมให้กับสมองเพื่อรักษา "โรคพาร์กินสัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า จะเริ่มทดลองทางคลินิกเดือนหน้า ในการหาทางรักษาโรคพาร์กินสัน ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ หรือ เซลล์ต้นกำเนิด ในสมองเพื่อเป็นการตั้งระบบการทำงานใหม่ เปรียบเหมือนการตั้งโปรแกรมอีกครั้งให้กับระบบประสาทสำหรับผู้ป่วยโรคดังกล่าว

โรคพาร์กินสันเกิดจากการขาดสาร “โดพามีน” (dopamine) ซึ่งผลิตโดยเซลล์สมอง นักวิจัยจึงหวังที่จะใช้สเต็มเซลล์เพื่อช่วยในการฟื้นฟูการผลิตสารที่ว่านี้

แนวคิดในการทดลองรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการใช้สเต็มเซลล์นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการใช้เซลล์ต้นกำเนิด iPS ของมนุษย์ (Human Induced Pluripotent Stem Cells) ฟื้นฟูการทำงานของเซลล์สมองลิง

เซลล์ iPS คือการสกัดเซลล์ที่โตเต็มวัยจากมนุษย์ โดยมากจะสกัดจากผิวหนัง หรือเลือด นำมาตั้งโปรแกรมใหม่ทำให้มีคุณสมบัติเหมือนกับเซลล์ตัวอ่อน ซึ่งอาจสามารถช่วยกระตุ้นเซลล์สมองให้ผลิตสารโดพามีนได้

ศาสตราจารย์ Jun Takahashi แห่งศูนย์วิจัย Center for iPS Cell Research and Application ของมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้นับเป็นการทดลองทางคลินิกครั้งแรกของโลกที่ใช้เซลล์ iPS ในการรักษาโรคพาร์กินสัน

Shinya Yamanaka หัวหน้าศูนย์วิจัย Center for iPS Cell Research and Application ผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเวชศาสตร์ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ John Gurdon ในการค้นพบว่า เซลล์ที่โตเต็มวัยสามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นเซลล์ตัวอ่อนได้

เขากล่าวว่า คณะนักวิจัยจะเร่งศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อจะได้นำการรักษาแบบใหม่ด้วยการใช้เซลล์ iPS ไปรักษาผู้ป่วยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การที่งานวิจัยนี้ใช้เซลล์ iPS แทนที่จะใช้เซลล์ตัวอ่อนจากมนุษย์ น่าจะทำให้การศึกษาครั้งนี้ ได้รับการยอมรับจากประเทศที่ห้ามการรักษาด้วยเซลล์ตัวอ่อน ต่างๆ เช่นไอร์แลนด์ และหลายๆ ประเทศในแถบละตินอเมริกา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook