ใช้งานข้อมือไม่ระวัง! เสี่ยง "โรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ"

ใช้งานข้อมือไม่ระวัง! เสี่ยง "โรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ"

ใช้งานข้อมือไม่ระวัง! เสี่ยง "โรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา หากต้องใช้ข้อมืออย่างหนักหรือทำซ้ำๆ เป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ ซึ่งมีอาการเจ็บปวดทรมานอย่างน่ารำคาญได้เช่นเดียวกัน

 

โรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ คืออะไร?

โรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ เกิดจากพังผืดที่หนาตัวบริเวณข้อมือทางด้านฝ่ามือ แล้วกดทับเส้นประสาททำให้เกิดการอักเสบ เมื่อมีการใช้งานบริเวณข้อมืออย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน

 

สัญญาณของโรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการชา เป็นเหน็บ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณฝ่ามือกับนิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ และอาจรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อตที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางเป็นบางครั้ง มักมีอาการตอนกลางคืน หรือหลังตื่นนอน เมื่อได้ขยับ หรือสะบัดมือจะรู้สึกดีขึ้น โดยอาการจะชัดเจนมากขึ้นหลังจากทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือหรือใช้ข้อมือหยิบจับถือสิ่งของเป็นเวลานาน หรือมีอาการอ่อนแรงของมือและนิ้วมือ

 

วัยเสี่ยงโรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ

โรคนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 35-40 ปี เพราะเป็นวัยทำงานมีการใช้ข้อมือและมือซ้ำๆ กันเป็นเวลานาน เช่น คนที่พิมพ์งานคอมพิวเตอร์ เพราะต้องวางข้อมือลงกับโต๊ะที่เป็นของแข็ง คนที่เขียนหนังสือ งานเย็บปักถักร้อย หรือใช้เครื่องมือที่สั่นสะเทือนต่อข้อมือบ่อยๆ เช่น ช่างเจาะถนน การทำงานที่กระดกข้อมือซ้ำๆ กัน เช่น แม่ค้า แม่บ้าน คนซักผ้า นอกจากนี้ยังพบว่าโรคดังกล่าวสามารถเกิดร่วมกับภาวะต่างๆ เช่น สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไทรอยด์ รวมถึงผู้ป่วยกระดูกหักหรือเคลื่อนบริเวณข้อมือ

 

รักษาโรคกดทับเส้นประสาทข้อมืออย่างไร?

การรักษาโรคกดทับเส้นประสาทข้อมือ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

  1. รักษาโดยไม่ผ่าตัด ใช้เฝือกอ่อนดามข้อมือ ทานยาแก้ปวดแก้อักเสบ ฉีดยาสเตียรอยด์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ใช้ข้อมือเพื่อลดการอักเสบของข้อมือ

  2. รักษาด้วยการผ่าตัด จะทำเมื่อการรักษาด้วยยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงกล้ามเนื้อฝ่อ

 

ป้องกันโรคกดทับเส้นประสาทข้อมือได้อย่างไร?

การป้องกันสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การใช้งานมือและข้อมือด้วยความระมัดระวัง เช่น ใช้ปากกาที่จับเขียนได้สะดวก คนที่พิมพ์งานคอมพิวเตอร์ควรกดแป้นพิมพ์เบาๆ พร้อมทั้งแผ่นเจล ผ้านุ่มๆ หรือฟองน้ำสำหรับรองข้อมือขณะพิมพ์ เพื่อลดการเสียดสีและลดการกระตุ้นเส้นเอ็นไม่ให้ตึงตัว พักมือเป็นระยะ โดยยืด ดัด และหมุนมือกับข้อมือ ควรปรับท่าทางของร่างกายโดยไม่ห่อไหล่ไปข้างหน้า หลีกเลี่ยงการนอนทับมือ หากสวมเฝือกข้อมือควรสวมเฝือกที่ไม่คับจนเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตลอดจนรักษาความอบอุ่นของมือในสภาพอากาศหนาวเย็นเพื่อลดอาการปวดตึง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook