วัยทำงาน-วัยชรา ระวังภาวะ "กระดูกสันหลังผิดปกติ"

วัยทำงาน-วัยชรา ระวังภาวะ "กระดูกสันหลังผิดปกติ"

วัยทำงาน-วัยชรา ระวังภาวะ "กระดูกสันหลังผิดปกติ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังสามารถพบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกิจกรรมในการดำเนินชีวิตแต่ละวันของคนเราเปลี่ยนไป โดยมักพบในคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุที่กระดูกสันหลังเสื่อมลงตามกาลเวลา ทั้งนี้เมื่อกระดูกสันหลังมีปัญหาควรรีบทำการรักษา เพราะเป็นเหตุสำคัญที่อาจทำให้ผู้ป่วยเดินหรือยืนนานๆ ไม่ได้ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามมา

 

กระดูกสันหลังผิดปกติ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในช่วงวัยทำงาน ผู้ป่วยมักได้รับบาดเจ็บจากการยกของหนัก เล่นกีฬา หรือจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ปัญหาที่พบได้บ่อยๆในวัยดังกล่าว คือ ภาวะหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทส่วนเอว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวลงขาต่ำกว่าระดับเข่า อาการจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากการยกของหนัก หรือเอี้ยวตัวผิดท่า อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำเมื่อความดันในหมอนรองกระดูกเพิ่มมากขึ้น เช่น การนั่ง การก้มงอตัว การเบ่งต่างๆ ได้แก่ เบ่งปัสสาวะ อุจจาระ ไอ จาม เป็นต้น อาการดังกล่าวอาจเป็นได้มากจนถึงขั้นทำให้เกิดการอ่อนแรงของขาได้ ฉะนั้นเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้วจะส่งผลให้ผู้ป่วยต้องหยุดการทำงาน หรืออาจถึงขั้นต้องออกจากงานในที่สุด

 

กระดูกสันหลังผิดปกติ ในผู้สูงอายุ

สำหรับในผู้สูงอายุนั้นมักสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเสื่อมการหลวมของข้อต่อกระดูกสันหลังโดยเฉพาะส่วนเอว เนื่องจากเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักมากที่สุด ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีอาการปวดหลังเวลามีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าทางต่อมาเมื่อการเสื่อมเกิดมากขึ้น จะพบมีการหนาตัวของเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มข้อต่อกระดูกสันหลัง จนส่งผลให้เกิดการกดทับเส้นประสาทส่วนเอวในท้ายที่สุด อาการในระยะนี้จะส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวลงขา หรือขาอ่อนแรงเวลายืน หรือเดินไปสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะทำให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินต่อไปไม่ได้ต้องรีบหาที่นั่งพักทันที อาการดังกล่าวจึงจะดีขึ้น หากอาการตีบแคบดำเนินต่อไปนานขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการต่างๆ จะค่อยๆ แย่ลง ผู้ป่วยจะยืนและเดินได้สั้นลงเรื่อยๆ จนท้ายที่สุด อาจมีอาการขาอ่อนแรงตลอดเวลารวมถึงอาจมีปัญหากลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ร่วมด้วย

 

การรักษากระดูกสันหลังผิดปกติ

  1. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตเพื่อลดการบาดเจ็บของหลัง และบริการกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังให้แข็งแรงได้ หรืออาจมีการใช้ยาเพื่อลดอาการร่วมด้วย

  2. สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถเดินได้ หรืออาการไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงหลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดอย่างเต็มที่แล้ว จะต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากอาการที่เป็นเกิดจากการถูกกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท

    โดยการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น เป็นการแก้ไขบริเวณที่มีปัญหาการกดทับเส้นประสาท ต้องทำเพื่อขยายบริเวณที่มีการตีบแคบนั้นๆ และหยิบส่วนที่มียื่นมากดทับเส้นประสาทออก ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
  • การขยายช่องกระดูกสันหลังโดยการเปิดแผลใหญ่

  • การขยายช่องกระดูกสันผ่านกล้องไมโครสโคป

    ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลงจากการผ่าตัด ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณที่ทำผ่าตัด สามารถเก็บความมั่นคงของกระดูกสันหลังไว้ได้มากขึ้นหลังจากทำการขยายช่องกระดูกสันหลัง ลดอัตราการติดเชื้อระหว่างผ่าตัดลง และผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม การจะรักษาภาวะผิดปกติของช่องกระดูกสันหลังดังกล่าวให้ได้ผลดีนั้น จะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับโรค การฝึกกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลังอย่างเหมาะสม การให้ยาในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม การบริหารยาที่ถูกต้องตรงเวลา รวมไปถึงการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับคนไข้ในแต่ละราย

สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าการรักษาที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องอาศัยการทำงานร่วมมือที่ดีระหว่างกันของแพทย์และผู้ป่วยเป็นสำคัญนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook