8 อันตรายถึงชีวิต ที่อาจเกิดขึ้นได้กับ “นักดำน้ำ”

8 อันตรายถึงชีวิต ที่อาจเกิดขึ้นได้กับ “นักดำน้ำ”

8 อันตรายถึงชีวิต ที่อาจเกิดขึ้นได้กับ “นักดำน้ำ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยมีคนกล่าวว่า ดำน้ำง่ายกว่าว่ายน้ำ เพราะเป็นการทำให่ตัวจมลงไปในน้ำมากกว่าพยายามที่จะทำให้ตัวลอย แต่อันที่จริงแล้วร่างกายของเราสามารถลอยตัวได้แม้จะไม่ได้ว่ายน้ำด้วยซ้ำ การจะมุดลงไปใต้น้ำลึกดูจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า ไหนจะเรื่องการหายใจ และแรงดันใต้น้ำที่อาจทำให้นักดำน้ำเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย

>> ซีลนอกราชการ "จ.อ.สมาน กุนัน" เสียชีวิต ขณะดำน้ำภายในถ้ำหลวง

Sanook! Health จึงรวบรวมอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับนักดำน้ำ มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจให้ดี ก่อนเริ่มต้นดำน้ำกัน

 

อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับ “นักดำน้ำ”

ปัญหาที่เกิดจากก๊าซต่างๆ

  1. ก๊าซออกซิเจน

- ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) เป็นภาวะที่นักดำน้ำได้รับออกซิเจนในการหายใจไม่เพียงจนหมดสติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุอาจมาจากออกซิเจนที่เตรียมไปไม่พอ อุปกรณ์ในการให้ออกซิเจนชำรุด หรือทำงานขัดข้อง/ผิดปกติ

นอกจากนี้ ภาวะพร่องออกซิเจน ยังอาจเกิดขึ้นได้กับนักดำน้ำที่ใช้วิธีกลั้นหายใจที่ใช้วิธีทำ Hyperventilation หรือพยายามหายใจให้เร็วขึ้น และลึกขึ้น เพื่อกักเก็บอากาศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อการดำน้ำให้ได้นานยิ่งขึ้ย ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดแรงกระตุ้นที่จะอยากหายใจจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำลง เมื่อนักดำน้ำโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำ แรงดันย่อยของออกซิเจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว (Shallow  Water  Blackout) จนทำให้หมดสติได้

- ออกซิเจนเป็นพิษ (Oxygen Toxicity) อาจเกิดขึ้นนักดำน้ำที่ใช้ออกซิเจนเปอร์เซ็นต์สูง ในการดำน้ำที่ใช้ระบบการดำแบบใช้อากาศหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ( Closed Circuit หรือ Semi Closed Circuit System) รวมถึงการหายใจด้วยออกซิเจนภายใต้ความกดบรรยากาศสูง (ลึกกว่า 60 ฟุตน้ำทะเล) ซึ่งมีแรงดันย่อยของออกซิเจนที่สูงมากเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการ ออกซิเจนเป็นพิษ โดยอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ที่ปอด หรือระบบประสาทส่วนกลางก็ได้ จะทำให้มีอาการหายใจแสบขัดขณะหายใจเข้า หรือสายตาแคบลงเหมือนมองลอดอุโมงค์ มีเสียงดังก้องในหู คลื่นไส้ กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก กระสับกระส่าย มึนงง ชัก หมดสติ และหากมีอาการเกิดขึ้นขณะดำน้ำ อาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้นนักดำน้ำจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูงในการดำน้ำ และควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำในพื้นที่ที่ลึกมากจนเกินไป

 

  1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

- ภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในร่างกาย (Hypercapnea)

นักดำน้ำอาจประสบกับภาวะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในร่างกาย จากการที่ร่างกายทำงานหนัก การระบายอากาศไม่ดี การกลั้นหายใจ อุปกรณ์ดำน้ำขัดข้อง เช่น การไม่ทำงานของสารฟอกคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดอาการปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ สับสน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

- ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำเกินไป (Hypocapnea)

ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำเกินไป จะเกิดขึ้นหลังจากที่นักดำน้ำพยายามหายใจหอบเร็ว และลึกขึ้นก่อนลงดำน้ำด้วยวิธีกลั้นหายใจ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ จนเกิดอาการชา เกร็ง ปลายมือปลายเท้า มึนงง เวียนศีรษะ เป็นต้น

หากนักดำน้ำประสบปัญหาเกี่ยวกกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ควรหยุดการดำน้ำ และพาตัวขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วที่เหมาะสม

 

  1. ก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์

มีความเป็นไปได้ว่าจะพบการปนเปื้อนของก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ในอากาศที่นักดำน้ำใช้หายใจ ดังนั้นหากมีการปนเปื้อนของก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์มากเกินไป อาจทำให้นักดำน้ำมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ สับสน จนกระทั่งหมดสติ และเสียชีวิตได้

หากนักดำน้ำประสบปัญหาการปนเปื้อนในอากาศของก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ ควรหยุดการดำน้ำ แล้วหายใจด้วยออกซิเจน 100% เพื่อลดปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ในเลือด

 

  1. ก๊าซไนโตรเจน

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ในอากาศที่เราใช้หายใจใต้น้ำ มีออกซิเจนอยู่เพียง 21% เท่านั้น อีกกว่า 78% คือก๊าซไนโตรเจน และอีก 1% ที่เหลือคือก๊าซอื่นๆ ดังนั้นก๊าซไนโตรเจนจึงเป็นก๊าซที่พบได้มากที่สุดในอากาศ หากดำน้ำที่ความลึกมากกว่า 100 ฟุตลงไป แรงดันย่อยของไนโตรเจนจะสูงมากจนทำให้เป็นพิษได้ เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะเมาไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis) ยิ่งเป็นอากาศที่ใช้ในการดำน้ำที่มีมวลอากาศค่อนข้างอัดตัวกันแน่นกว่าอากาศที่ใช้หายใจทั่วไปบนพื้นผิวโลก ยิ่งทำให้ก๊าซต่างๆ แพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายได้มากขึ้นไปด้วย

อาการเมาไนไตรโจน จะทำให้รู้สึกตัวเบา ครึ้มอกครึ้มใจ หยุดหัวเราะไม่ได้ มีอาการคล้ายเมาแอลกอฮอล์ แต่ยังทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนได้ แต่จะไม่มีสมาธิ มึนงง ตัดสินใจไม่ได้ จนสุดท้ายอาจเห็นภาพหลอน ซึมเศร้า และหมดสติได้

ทั้งนี้ อาการเมาไนโตรเจน ในแต่ละคนมีความรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับความลึกในการดำน้ำ (ยิ่งลึกยิ่งเสี่ยงมาก) สภาพความแข็งแรงของร่างกาย และการปรับตัวของแต่ละคน

การหลีกเลี่ยงอาการเมาไนโตรเจน คือการไม่เสี่ยงดำน้ำลึกมากเกินไป ไม่ควรดำน้ำคนเดียว ควรมีคู่หูดำน้ำด้วยกัน หากมีอาการเมาไนโตรเจนขณะดำน้ำ ให้รีบลดระดับแรงดันย่อยไนโตรเจนโดยการพาตัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำในความเร็วที่เหมาะสม

 

  1. ก๊าซฮีเลียม

เมื่อก๊าซไนโตรเจนอาจทำอันตรายต่อร่างกายเมื่อต้องดำน้ำลึกๆ ได้ ดังนั้นจึงมีการใช้ก๊าซฮีเลียมผสมลงไปในก๊าซที่ให้นักดำน้ำใช้หายใจ แต่ก๊าซฮีเลียมก็อาจทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน จนอาจเสี่ยงภาวะร่างกายอุณหภูมิต่ำเกินไป หรือต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียสได้ (Hypothermia) ดังนั้นหากจะใช้อากาศที่มีส่วนผสมของก๊าซฮีเลียมในการดำน้ำลึก จึงควรทำให้ก๊าซร้อน และสวมชุดป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกายด้วย

นอกจากนี้ ก๊าซฮีเลียมยังอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยอาจจะทำให้มีอาการสั่นของกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว ในรายที่รุนแรงอาจมีการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน และสับสนมาก

 

ปัญหาที่เกิดจากความกดดันอากาศ

  1. โรคจากการลดความกดอากาศ (Decompression Sickness, Caisson Disease, Bends)

โรคจากการลดความกดอากาศ อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า น้ำหนีบ น้ำบีบ  น้ำหีบ หรือน็อกน้ำ เป็นโรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายได้รับก๊าซไนโตรเจนภายใต้ความกดดันจนเกิดภาวะอิ่มตัว (Saturation) เมื่อมีการลดความกดดันอย่างรวดเร็ว (การดำขึ้นสู่ผิวน้ำ ) เนื้อเยื่อจึงคายก๊าซไนโตรเจนที่เกินออกเกิดเป็นฟองอากาศ (Bubbles) เข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งระบบการไหลเวียนของเส้นเลือด  ฟองก๊าซเกิดขึ้นเกินกว่าความสามารถของร่างกายที่จะกำจัดได้ ทำให้เนื้อเยื่อ และหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บ และเกิดการอักเสบจากการเบียดแทรก บีบกดจากฟองอากาศ  เนื้อเยื่อเกิดการขาดเลือด และเกิดการอุดตันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

อาการที่เกิดขึ้น มีได้ตั้งแต่ปสดในข้อ เช่น หัวไหล่ ข้อเข่า ข้อศอก ข้อเท้า สะโพก ไปจนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้

 

  1. ปอดพองเกิน (Pulmonary Over Inflation Syndrome : POIS)

อาการปอดพองเกิน เกิดจากการหายใจด้วยอากาศที่มีความกดดันสูงใต้น้ำแล้วดำขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยระบายอากาศออกอย่างไม่เพียงพอหรือไม่ทัน (ดำขึ้นเร็วกว่าฟองอากาศ)  มักพบในนักดำน้ำที่ใช้ถังอากาศดำน้ำ (SCUBA) ที่เกิดอุบัติเหตุใต้น้ำแล้วตกใจ ดำขึ้นสู่ผิวน้ำโดยการกลั้นหายใจหรือมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อปอดทำให้ฟองก๊าซเซาะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของปอด และขยายตัวมากจนทำให้ถุงลมปอดฉีกขาด

นอกจากนี้ อาการปอดพองเกินยังอาจทำให้เกิดอาการลมรั่วในโพรงหุ้มปอด ลมรั่วในแกนปอด ลมรั่วในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง รวมไปถึงภาวะฟองก๊าซอุดตันในหลอดเลือดแดงได้อีกด้วย

 

  1. การบาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ (Barotrauma)

การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศรอบตัวนักดำน้ำ เป็นสาเหตุที่ทำให้นักดำน้ำมีอาการบาดเจ็บมากที่สุด มีได้ตั้งแต่อาการบาดเจ็บต่อหูชั้นกลาง หูชั้นใน โพรงอากาศไซนัส ฟัน ไปจนถึงปอดได้ อวัยวะเหล่านี้มีโพรงอากาศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศ ดังนั้นจึงอาจทำให้รู้สึกปวดหู แก้วหูทะลุ ปวดโพรงจมูกจนอาจมีเลือดไหล ปวดฟัน (หลังจากเกิดโพรงอากาศหลังทำการรักษาฟันผุ หรืออุดฟันไม่แน่น) ไปจนถึงอากาศภายในปอดอุดตันระบบไหลเวียนเลือด จนรบกวนการทำงานของระบบประสาท หมดสติ มีอาการทางสมอง อัมพาต จนอาจเสียชีวิตได้

 

จะเห็นได้ว่าการดำน้ำมีอันตรายมากมายที่คนทั่วไปอาจไม่เคยทราบ ดังนั้นก่อนเริ่มดำน้ำควรได้รับคำแนะนำ และอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรดำน้ำเองตามลำพัง และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้หยุดการดำน้ำ ส่งสัญญาณให้เพื่อนที่ดำน้ำด้วยกันทราบ และขึ้นมาบนผิวน้ำในความเร็วที่เหมาะสม ไม่ควรทนดำน้ำต่อไป เพราะอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook