ร้อนนี้ ระวังน้ำแข็งไม่สะอาด อาหารบูด

ร้อนนี้ ระวังน้ำแข็งไม่สะอาด อาหารบูด

ร้อนนี้ ระวังน้ำแข็งไม่สะอาด อาหารบูด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังกินน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เหตุจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้อาหารจะบูดเสียง่าย แนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" หลีกเลี่ยง 10 เมนูเสี่ยง หลังปีนี้พบผู้ป่วยมากกว่า 2 หมื่นรายแล้ว

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เริ่มร้อนขึ้นในช่วงนี้ เหมาะแก่การเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคหลายชนิด ซึ่งอากาศที่ร้อนแบบนี้ยังทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงการบริโภคน้ำจากตู้กดน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาด ไม่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ

สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ข้อมูลนากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 22,950 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี และ 45-54 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน อำนาจเจริญ ตราด อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ตามลำดับ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำ น้ำแข็ง ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค (แบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ) สารพิษ หรือสารเคมี ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารไม่สะอาด และอาหารที่ปรุงไว้นานแล้ว ไม่ได้แช่เย็นหรือไม่นำมาอุ่นก่อน ในส่วนน้ำแข็งที่ประชาชนรับประทาน อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ จากภาชนะเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรกหรือวิธีการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ 10 เมนูอาหารเสี่ยงในช่วงหน้าร้อนที่ประชาชนควระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่

1. ลาบ/ก้อยดิบ

2. ยำกุ้งเต้น

3. ยำหอยแครง/ยำทะเล

4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู

5. อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด

6. ขนมจีน

7. ข้าวมันไก่

8. ส้มตำ

9. สลัดผัก

10. น้ำแข็ง ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน

แนะนำประชาชนก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ อาหารที่ไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน พร้อมยึดหลัก "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" โดยปฏิบัติดังนี้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด ใช้ช้อนกลาง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทั้งก่อนและหลังปรุงประกอบอาหาร และหลังขับถ่าย ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ ปวดหัว คอแห้ง กระหายน้ำ อาจมีไข้ เป็นต้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ผสมน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำและถ่ายเหลวมากกว่าปกติ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook