รีวิว Sekiro : Shadows Die Twice อย่าไปกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย!

รีวิว Sekiro : Shadows Die Twice อย่าไปกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย!

รีวิว Sekiro : Shadows Die Twice อย่าไปกลัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความตาย!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Story : 8/10

Gameplay : 10/10

Graphic and Art Direction : 10/10

Soundtrack : 9/10

Presentation : 9/10

Verdict : 9.2/10

เกมที่ยากที่สุดในโซลซีรี่ส์….ถ้าคุณเล่นมันอย่างที่มันอยากให้คุณเล่นอ่ะนะ

 

เกริ่น…

Sekiro : Shadows Die Twice คือเกมใหม่ล่าสุดจากค่าย From Software ภายใต้ฝีมือการกำกับของ Hidetaka Miyazaki อดีตพนักงานบัญชีผู้ผันตัวมาพัฒนาเกมและให้กำเนิดซีรี่ส์โซลขึ้นมาจนแทบจะบัญญัติเป็นแนวเกมแบบใหม่ไปเลยทีเดียว ซึ่ง Sekiro นี้เดิมทีถูกพัฒนามาให้เป็นภาคต่อของ Tenchu ซีรี่ส์เกมแนวลอบเร้นจากค่ายเดียวกันที่ไม่ได้มีภาคต่อมาตั้งแต่สมัยยุค PS2 แล้ว แต่ทำไปทำมาก็คลอดออกมาเป็น Sekiro เกมโซลลำดับที่ 6 จากผู้กำกับมิยาซากิไปแทน

และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงจะอ้างอิงถึงหรือเปรียบเทียบกับเกมตระกูลโซลในหลายๆแง่มุม ด้วยเชื่อว่าจะทำให้สามารถอธิบายแง่มุมต่างๆของ Sekiro : Shadows Die Twice ได้ละเอียดที่สุด


บทและการเล่าเรื่อง

เรื่องราวของ Sekiro จะอยู่ในญี่ปุ่นราวๆศตวรรษที่ 16 ช่วงปลายยุคเซนโกคุซึ่งมีแต่สงครามรบราฆ่าฟันระหว่างแคว้น ณ แคว้นหนึ่งในป่าลึกนาม อาชินะ (Ashina) เราจะได้รับบทบาทเป็น โอคามิ (Okami) นินจาผู้ได้รับหน้าที่เป็นองครักษ์ให้แก่ องค์ชายคุโระ (Kuro) ผู้สืบสายเลือดแห่งมังกรที่มีพลังแห่งความเป็นอมตะอยู่ในตัว และด้วยเหตุนั้น จึงมีผู้คนที่ต้องการจะใช้ประโยชน์จากพลังของคุโระโดยไม่สนใจวิธีการอยู่ไม่น้อย โอคามิผู้เคร่งครัดในวิถีของนินจาที่แม้ชีวิตจะหาไม่ก็ต้องปกป้องผู้เป็นนายให้ได้ จึงต้องออกเดินทางฟาดฟันผู้ใดก็ตามที่ประสงค์ร้ายต่อคุโระ

หนึ่งในเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเกมตระกูลโซลก็คือ World Building หรือการสร้างโลกของเกมที่น่าค้นหา ดูสมจริงสมจัง เป็นธรรมชาติราวกับมีอยู่จริง ซึ่งเกมทั่วๆไปส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่เอา World Building มาเล่าในเนื้อหาหลักเพื่อส่งเสริมกันตรงๆไปเลย ก็จะแยกเป็นคนละส่วนกันชัดเจนให้เฉพาะผู้เล่นที่สนใจใน Lore หรือเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของเกมเท่านั้นไปตามหาอ่าน แต่เกมตระกูลโซลนั้นกลับเลือกที่จะไม่เล่าเนื้อหาหลักของเกมตรงๆผ่านบทสนทนาหรือคัทซีน แต่ใช้ World Building ผ่านคำอธิบายของไอเทม ตำแหน่งของไอเทม ตำแหน่งของ NPC ไปจนถึงรูปร่างหน้าตาของสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ หรือซากปรักหักพังต่างๆ เป็นสื่อกลางให้ผู้เล่นไปปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเองว่าเราเป็นใคร มาทำอะไร ต้องทำอะไรต่อ และทำไปเพื่ออะไร

ถึงแม้อาจจะฟังดูแปลก แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นเสน่ห์ในการเล่าเรื่องของโซลซีรี่ส์มาตลอด เพราะนอกจากโลกของเกมมันจะดูน่าค้นหาน่าสนใจด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว มันยังทำให้เราใส่ใจและมองเห็นรายละเอียดต่างๆที่ถูกซ่อนเอาไว้มากขึ้น บอสบางตัวที่เราฆ่าไปแล้ว เมื่อเราได้มาปะติดปะต่อรับรู้เรื่องราวของพวกเขาในภายหลัง มันอาจทำให้เรารู้สึกผิด หรือทำให้การเล่นในรอบต่อๆไปเราสังเกตุพฤติกรรมบางอย่างที่เชื่อมโยงกับปูมหลังของเขาที่ในการเล่นรอบแรกเราไม่อาจรู้เลยก็ได้ รวมถึงยังทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในสังคม เกิดเป็นทฤษฏีต่างๆที่บางอันก็ไม่สามารถพิสูจน์ๆได้ว่าถูกหรือผิด ทำให้โลกของโซลซีรี่ส์นั้นมีชีวิตชีวา ไม่ตายตัว และเราผู้เล่นก็เหมือนกับนักประวัติศาสตร์ที่พยายามหาคำตอบจากเศษซากของโลกในเกมเหล่านี้

ซึ่งใน Sekiro นั้นก็พบว่า…เสน่ห์ตรงนี้หายไปพอสมควร แต่ไม่ทั้งหมด

ภายใน Sekiro เรายังคงพบเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านคำอธิบายไอเทมและงานออกแบบฉากอยู่มากมาย มีตัวละคร ฉาก สถานที่ ที่ต้องปะติดปะต่อเพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปต่างๆอยู่มาก โลกของมันยังคงน่าสนใจไม่แพ้เกมอื่นๆในซีรี่ส์ แต่ถึงอย่างนั้นตัวเนื้อเรื่องหลักส่วนใหญ่ก็จะถูกเล่าออกมาตรงๆผ่านตัวละครต่างๆอยู่แล้ว ทำให้แม้จะไม่สนใจที่จะตามหาตามอ่านตามปะติดปะต่อรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้เลย เราก็สามารถทำความเข้าใจเนื้อเรื่องหลักได้ไม่ยาก และมีคำตอบที่ค่อนข้างตายตัว ไม่ต้องมานั่งถกนั่งวิเคราะห์กันว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มีข้อดีที่ตรงที่ทำให้เข้าถึงได้ง่าย อ่านครบเล่นจบก็เข้าใจได้ว่าทั้งหมดที่เราทำไปมันคืออะไร ไม่เหมือนกับเกมก่อนๆที่บางทีสู้บอสใหญ่ไปแล้วก็ยังไม่ได้เข้าใจอะไรๆมากไปกว่าตอนต้นเกมเท่าไหร่เลย แต่ปัญหาที่แดงออกมาจากการทำแบบนี้คือการที่ตัวเนื้อเรื่องหลักของ Sekiro เองนั้นมันไม่ได้น่าสนใจหรือละเอียดคมคายเป็นพิเศษอะไรด้วยตัวมันเอง และด้วยความที่มันยังคงพยายามรักษาบรรยากาศการเล่าเรื่องแบบพูดน้อยๆคัทซีนน้อยๆไว้อยู่ มันเลยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมาอย่างการทำให้เราหลงรักตัวละครหรือใช้คัทซีนเพื่อบิ้วท์จังหวะเกมได้อย่างเต็มที่ ความครึ่งๆกลางๆนี้ทำให้ภาพรวมการเล่าเรื่องของ Sekiro จึงออกมาค่อนข้างจืดๆไปแทน

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ Sekiro ทำได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือการใช้ประโยชน์จากความยากของเกมในการส่งเสริมบรรยากาศของเรื่องราวได้อย่างเต็มที่หรืออาจจะดียิ่งกว่าเกมอื่นๆด้วยซ้ำ ไอ้ความรู้สึกที่ตัวเราอ่อนแอหรือศัตรูแข็งแกร่งจนไม่ยุติธรรมมากๆ ไอ้การที่ไม่ว่าจะเราจะไปสำรวจที่ไหนต่างก็อันตรายไปหมด ไอ้การที่เราต้องคร่ำเคร่งและตายกับการผ่านบอสแต่ละตัว ศัตรูแต่ละฉาก เป็นตัวช่วยผลักให้เรายิ่งอินไปกับตัวละครโอคามิของเรามากขึ้น เรารู้สึกถึงความบอบบางของโอคามิที่ก็เป็นมนุษย์หาใช่ฮีโร่ที่สามารถรับมือศัตรูเป็นร้อยเป็นพันอย่างซึ่งๆหน้าไม่ เรารู้สึกถึงน้ำหนักของภารกิจที่เรากำลังทำและศัตรูที่ทำทุกอย่างเพื่อหยุดยั้งเรา เรารู้สึกแคร์ที่จะต้องเล่นให้ผ่านไม่ใช่เพราะอยากเอาชนะ แต่เพราะอยากจะเห็นตัวละครของเราบรรลุหน้าที่ของตนด้วย มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า Thematic Experience หรือการสื่อสารอารมณ์ที่เฉพาะเจาะจงของเกมผ่านเกมเพลย์ ซึ่ง Sekiro ก็ทำในสิ่งนี้ได้ดีเสียเอามากๆ

 

 

เกมเพลย์

เซคิโระนั้นเป็น Action RPG ที่แซมความเป็นเกมลอบเร้นมาด้วยนิดๆ โดยเราจะอยู่ในโลกที่ออกแนวกึ่งๆ Open World ที่พื้นแต่ละส่วนจะไม่ใช่พื้นที่กว้างๆแต่ก็ล้วนแล้วแต่เชื่อมต่อกันผ่านทางแยกทางลับต่างๆ ซึ่งหลายๆสถานที่ก็จะไม่ได้บังคับว่าจะไปได้ตอนไหน ทำให้ประสบการณ์การเล่นของหลายๆคนอาจไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจสู้บอสตัวนั้นก่อน อีกคนอาจสู้บอสอีกตัวก่อน หรือเราอาจจบเกมโดยไม่ได้ไปเยือนบางพื้นที่เลยด้วยซ้ำก็ได้ ภายในโลกนี้เราก็จะมีจุดเซฟที่เป็นเสมือนแคมป์ของเราที่เรียกว่า เทวรูป (Sculpture) ไว้ให้เรากลับมานำค่าสกิล (Skill Point) ที่ได้จากการฆ่าฟันศัตรูมาปลดล็อคสกิลต่างๆ นำไอเทมมาอัพเกรดเพิ่มความยาวหลอดพลังชีวิตหรือพลังโจมตี ตลอดจนใช้วาร์ป (Fast Travel) ไปยังเทวรูปอื่นๆเพื่อความรวดเร็ว ถ้าใครที่เคยเล่น Dark Souls มาก่อนเทวรูปนี้ก็คือ Bonfire นี่เอง

ตัวโอคามินั้นจะมีอาวุธคู่กายที่เปลี่ยนไม่ได้ตลอดเกมคือดาบญี่ปุ่น คุซาบิมารุ (Kusabimaru) แต่ความหลากหลายจะอยู่ที่แขนกลของเราที่สามารถติดตั้งอุปกรณ์นินจาต่างๆได้ โดยอุปกรณ์นินจาเหล่านี้ก็จะมีการใช้งานที่เหมาะกับศัตรูและสถานการณ์แตกต่างกันไป เช่น ดาวกระจายเหมาะกับศัตรูที่ชอบกระโดด ขวานเหมาะกับศัตรูถือโล่หรือการ์ดแข็งๆ เป็นต้น โดยจะมีระบบสำคัญที่เป็นพระเอกคือ การแพรี่ (Parry) หรือ สะท้อนกลับการโจมตี (Deflect) ด้วยการกดป้องกันในจังหวะที่ตรงกับการโจมตีของศัตรูพอดี ซึ่งก็จะเกี่ยวกับกับระบบการทรงตัว (Posture) ที่หากเราโจมตีศัตรูหรือแพรี่การโจมตีของมันอย่างต่อเนื่อง ค่าการทรงตัวนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากค่านี้เต็มที่กำหนดศัตรูก็จะเปิดช่องว่างให้โจมตีและออกท่าพิฆาตเพื่อฆ่าศัตรูในดาบเดียวหรือลดแถบเลือดศัตรูไปทั้งแถบได้ ซึ่งระบบนี้ก็จะส่งผลกลับต่อเราด้วย

จุดนี้จึงทำให้โดยแนวคิดแล้ว เซคิโระค่อนข้างแตกต่างจากโซลซีรี่ส์ภาคก่อนๆอยู่มาก เนื่องจากปกติแล้วเกมโซลนั้นจะมีลักษณะเป็น Methodical based มากกว่า Reflex base กล่าวคือ ความยากของเกมจะไปอยู่ที่การหาวิธีต่อสู้ มากกว่าฝีมือหรือความสามารถในการตอบสนองของผู้เล่น หากเรารู้ว่าต้องโจมตีจังหวะไหนหรือใช้ท่าอะไร ก็จะสามารถทำซ้ำๆได้และมีความแน่นอนในการเอาชนะสูงเนื่องจากตัวเกมเองมันไม่ได้เร็วมาก เรียกว่าบอสของเกมโซลนั้นมันเป็นกึ่งๆพัซเซิ่ลด้วยตัวเองก็ได้ แต่ Sekiro นั้นเกมจะค่อนข้างเร็วและด้วยระบบแพรี่จึงทำให้ความเร็วในการตอบสนองนั้นสำคัญกว่าวิธีการมาก ต่อให้รู้ว่าจะต้องรับมือกับการโจมตีของศัตรูแบบไหนแต่หากเราตอบสนองไม่ทันก็ไม่สามารถเอาชนะได้ สำหรับคนส่วนใหญ่จึงน่าจะพบว่า Sekiro นั้่นยากกว่าเกมโซลอื่นๆเนื่องจากความท้าทายนั้นมักจะไม่ใช่การหาวิธีสู้ แต่เป็นการตายซ้ำๆให้กล้ามเนื้อเรามันจดจำไปเองว่าต้องตอบสนองตอนไหนยังไงเพราะประมวลผลในจังหวะนั้นไม่ทัน ในทางกลับกัน หากเป็นคนที่ปฏิกิริยาสนองเร็วก็อาจจะรู้สึกว่า Sekiro ง่ายกว่าเพราะหากมือไวตาไวพออยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องตายซ้ำๆเพื่อทำความคุ้นเคยอะไร

แต่นั่น…ก็แค่กับการเล่นในแบบที่เกมมันออกแบบมาให้เราเล่นเท่านั้น

ดูเหมือนว่าตัวเกมจะปรับสมดุลมาเพื่อรองรับการเล่นพุ่งเข้าชนต่อหน้าอย่างเดียวซะจนทำให้บอสหลายๆตัวนั้นกลายเป็นว่ามีจุดบอดแปลกๆเต็มไปหมด เช่น บอสบางตัวนั้นจะมีมุมที่สามารถโจมตีเข้าถึงตัวได้ตลอดเวลาทำให้แสปมได้เรื่อยๆ บอสบางตัวก็แพ้อุปกรณ์นินจาบางอย่างซะจนการต่อสู้จบในชั่วอึดใจ ซึ่งจุดบอดพวกนี้เราจะไม่พบเลยหากเราพุ่งชนเน้นประดาบกันในแบบที่เกมต้องการให้เราเล่น จนกลายเป็นว่าเอาเข้าจริงๆเกมนี้ดูจะมีความเป็น Methodical Based ขึ้นมามากกว่าเกมอื่นๆด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพียงแต่มันทำให้ระดับความยากของเกมมันค่อนข้างแล้วแต่คนไป ถ้าเล่นอย่างที่เกมมันถูกออกแบบมาผมค่อนข้างมั่นใจว่าเกมนี้ยากที่สุดในตระกูลแล้ว แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบลองทำอะไรหลายๆแบบหรือดูไกด์การเล่นมาก่อน เกมนี้ก็อาจจะง่ายไปเลยก็ได้

ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ว่าจะยากหรือง่าย ตัวระบบการเล่นของ Sekiro ก็ยังคงสนุกมากๆ ระบบแพรี่ถูกขัดเกลาทั้งในทางเทคนิคและภาพเสียงออกมาอย่างดีเยี่ยม ความรู้สึกที่สามารถแพรี่ได้สำเร็จอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นอะไรที่น่าพึงพอใจตั้งแต่ต้นยันจบเกม ระบบลอบเร้นของเกมนี้ที่แม้ A.I. ศัตรูจะค่อนข้างโง่จนไม่สมจริงไปบ้าง แต่ความเร็วและกระฉับกระเฉงของมันก็เข้ากันได้ดีกับจังหวะเกมที่โดยพื้นฐานมันไม่ใช่เกมลอบเร้นอยู่แล้ว การที่เราสามารถวิ่งไต้หลังคาไล่ฆ่าทหารยามไปภายในชั่วอึดใจโดยไม่จำเป็นคอยยึกๆยักๆหลบๆซ่อนๆนั้นส่งเสริมความรู้สึกของการเป็นนินจาได้อย่างดีเยี่ยม ตลอดเกมมีมินิบอสหรือบอสให้สู้เยอะ อาจจะมีศัตรูแนวย้อมบ้างแต่โดยรวมมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ก็มีการต่อสู้ มีอะไรท้าทายให้ทำเสมอ ไม่มีพักผ่อนเลย

จุดบ่นข้อเดียวจริงๆคือจากประสบการณ์ที่เล่นบน ps4 slim ของผมนั้น ผมรู้สึกว่าโลจิคการรับ input ของเกมนี้มันแปลกๆ คือบางครั้งตัวละครของเราจะออกการกระทำจากปุ่มที่เรากดซ้ำๆแม้เราจะไม่ได้กดปุ่มนั้นแล้ว เช่น ลองกดกระโดดรัวๆแล้วหยุดก่อนตัวเราจะถึงพื้นดู บางทีตัวเรามันจะกระโดดต่อทันทีเหมือนกับว่ามันเก็บ input ที่เรากดรัวๆนั้นเอาไว้แล้วมาประมวลผลทีหลัง ซึ่งมันค่อนข้างแปลกและเอาจริงๆก็ทำให้เกิดความผิดพลาดระหว่างสู้หลายต่อหลายครั้งทีเดียว


ภาพและการกำกับศิลป์

คุณภาพกราฟฟิคนั้นถ้าเทียบกับตระกูลโซลด้วยกันก็คงถือว่าดีที่สุดและพัฒนามาจาก DS3 พอสมควร แต่ถ้ามองในหมู่เกม AAA ด้วยกันก็อาจจะไม่ได้เด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่ในแง่การกำกับศิลป์นั้นก็ถือยอดเยี่ยมมากๆ การออกแบบตัวฉากหรือสถาปัตยกรรมนั้นอาจจะไม่หวือหวาอะไรเป็นพิเศษ แต่การเลือกใช้สีต่างๆในเกมนั้นทำให้แต่ละฉากแต่ละโซนที่เราเข้าไปดูนั้นดูมีเอกลักษณ์และสื่อบรรยากาศออกมาได้ดีมาก อย่างในฉากทั่วๆไปในอาชินะที่อยู่บนภูเขาหิมะนั้น การเลือกใช้สีขาวแดงจากคราบเลือดบนหิมะเป็นโทนหลักส่งเสริมบรรยากาศที่น่าเศร้าของไฟสงครามบนความงดงามของทิวทัศน์ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งตรงนี้ แม้ว่าโซลซีรี่ส์จะโดดเด่นเรื่องงานออกแบบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ Sekiro นั้นทำสิ่งที่ท้าทายกว่าคือการเลือกใช้สีที่มันสดใสและฉูดฉาดกว่าในการสร้างบรรยากาศที่ชวนอึดอัดในแบบของเกมโซล ซึ่งก็บอกได้เลยว่าเอาอยู่มากๆ

แต่ทีเด็ดจริงๆไปอยู่ที่งานออกแบบด่านหรือ Level Design ที่ดีที่สุดทั้งในซีรี่ส์และเทียบกับเกมอื่นๆ อย่างที่บอกไปว่าเกมนี้และเกมโซลอื่นๆจะมีโครงสร้างฉากเป็นแบบกึ่ง open world ซึ่งจุดแข็งของมันก็อยู่ที่ความละเอียดในการออกแบบการเชื่อมโยงฉากที่ซับซ้อนเหล่านั้นให้ผู้เล่นสามารถจำได้ กล่าวคือ ตัวเกมนั้นจะไม่มีแผนที่ให้เราเลย อาศัยความจำผู้เล่นอย่างเดียว ซึ่งหากเป็นเกม open world ที่เอาพื้นโล่งๆใหญ่ๆเข้าว่าแล้วมันก็คงจะเป็นปัญหาแน่ๆ แต่ฉากใน Sekiro และเกมโซลอื่นๆนั้นแต่จะฉากแต่ละพื้นที่จะมีจุดเด่นมีเอกลักษณ์ให้จดจำได้ง่ายเสมอ ทำให้การเดินสำรวจพบเจอสิ่งใหม่ๆในเกมนั้นสนุกและชวนงงในทางที่ดีมากกว่าจะน่ารำคาญเพราะจำไม่ได้ว่าต้องกลับทางไหน แต่สิ่งที่ยกระดับ Sekiro ให้ดีกว่าเกมก่อนๆก็คือการที่ัในเกมนี้เราสามารถกระโดดและใช้แขนกลเพื่อห้อยโหนสลิงปีนป่ายฉากต่างๆได้แล้ว

แม้ในทางเกมเพลย์ระบบนี้จะไม่ได้ถูกใช้แบบเต็มที่มากเท่าไหร่ แต่ในทางงานออกแบบฉากแล้วมันทำให้การเดินทางในเกมนี้มันลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ดูกระฉับกระเฉงขึ้นมาก เราสนุกกับการหมุนมุมกล้องเพื่อมองหาว่ามีหลังคาอาคารไหนที่สามารถโหนขึ้นไปได้ บนหุบเหวมีจุดไหนมั้ยที่จะสามารถโดดไปเพื่อเกาะกิ่งไม้ได้ แล้วมันจะพาเราไปยังแอเรียลับหรือเก็บไอเทมพิเศษรึเปล่า นอกจากนี้โดยภาพรวมแล้ว การเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ต่างๆในเกมนี้ก็ยังดูสมเหตุสมผล เรารู้สึกเข้าใจได้ว่าทำไมสิ่งต่างๆถึงอยู่ตรงนั้นตรงนี้มากกว่าแค่ทำให้ฉากมันต่อเรื่องกันเฉยๆ ซึ่งมันก็ยิ่งช่วยให้เรารู้สึกว่าโลกของ Sekiro นั้นสมจริงสมจังมากขึ้นไปอีก

การออกแบบตัวละครและศัตรูก็ถือว่าทำออกมาได้ดีตามมาตรฐานซีรี่ส์ อาจจะด้วยความที่ต้องคงไว้ซึ่งบริบทญี่ปุ่นจ๋าๆจึงทำให้มันหลากหลายมากแบบดาร์คโซลไม่ได้ แต่ก็ยังคงมีทั้งบอสที่เท่และชวนให้เหวอปะปนกันไปตามในระดับที่้น่าประทับใจ

 

 

เสียงและดนตรีประกอบ

ถ้าเข้าใจไม่ผิด Sekiro น่าจะเป็นเกมแรกของซีรี่ส์โซลเลยมั้งที่มีเพลงประกอบการต่อสู้กับศัตรูตามฉาก และเพลงที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันตามสถานที่ที่สู้อยู่ด้วย ซึ่งโดยภาพรวมนั้นก็…ไม่มีอะไรน่าประทับใจเป็นพิเศษ คือมันยังไม่มีเพลงประกอบบอสตัวไหนที่ติดหูเรามากๆหรือมีเอกลักษณ์ในทางเนื้อเรื่องเท่าไหร่ โอเค มันทำหน้าที่เร้าอารมณ์ในจังหวะนั้นๆได้ดี แต่ก็ไม่มีเพลงไหนเลยที่ยังก้องกังวาลแม้การต่อสู้จะจบไปแล้ว

ในด้านเสียงประกอบอื่นๆนั้น เสียงที่ทำมาได้กินขาดสุดๆก็คือเสียงปะทะดาบเวลาแพรี่นั่นเอง จริงอยู่ว่ามันฟังดูไม่พิเศษอะไร แต่จะบอกเลยว่าเพราะเสียงนี้แหละที่ทำให้ระบบการแพรี่ของเกมนี้มันช่างน่าพึงพอใจและทำให้เรารู้สึกถึงการตอบสนองของเกมเป็นอย่างดี นอกจากนั้นเสียงเวลาที่เราสามารถออกท่าพิฆาตเพื่อแทงศัตรูหลังจากสามารถทำลาย posture ของศัตรูได้นั้นก็เป็นอีกเสียงถูกขัดเกลามาอย่างดี เสียงตึงที่กังวาลอย่างต่ำๆนั้นเข้ากันได้ดีมากกับเครื่องหมายวงกลมสีแดงสดบนตัวศัตรู ดีเทลของการเลือกใช้เอฟเฟคต์เสียงเหล่านี้ล้วนแล้วแค่ส่งเสริมสัมผัสของเกมให้คมและน่าพึงพอใจ

สำหรับเสียงพากย์ก็ไม่มีอะไรน่าพูดถึงเป็นพิเศษ อาจจะเพราะผู้เขียนฟังเสียงภาษาญี่ปุ่นด้วยจึงไม่สามารถที่จะวิพากษ์ได้อย่างเต็มที่ว่ามีตัวละครไหนที่พากย์ได้ดีหรือไม่ดีเป็นพิเศษมั้ย

 

 

การนำเสนอ

บรรยากาศที่ Sekiro พยายามนำเสนอนั้นคือช่วงเวลาที่สงครามกำลังก่อตัวขึ้น เรื่องราวของเกมจะวนเวียนอยู่กับความรู้สึกของตัวละครและผู้คนต่อสงครามที่จะมาถึง ความเปราะบางของเมืองหรือแคว้นหนึ่งๆเมื่อต้องเผชิญหน้ากับพยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามา บรรยากาสนี้นอกจากจะถูกสื่อออกมาผ่านเนื้อเรื่องหลักแล้ว ยังมีระบบการแอบฟัง npc หรือแม้แต่ศัตรูต่างๆขณะกำลังสนทนาที่นอกจากจะเป็นการบอกใบ้เกมเพลย์บางอย่างแล้ว ยังทำให้เราได้รับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาเหล่านั้นต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เมื่อรวมเข้ากับความยากของเกมที่ตอกย้ำผู้เล่นถึงความโหดร้ายและไร้ปราณีในช่วงเวลาแห่งสงครามแล้ว Sekiro จึงตีแผ่ความน่าอึดอัดของสงครามออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ระบบการต่อสู้เองก็สื่อสารความเป็นนินจาออกได้อย่างพอเหมาะพอดี การที่ตัวเกมไม่มีระบบพัฒนาตัวละครและพยายามให้เราใช้ประโยชน์จากระบบแพรี่อย่างเต็มที่นั้นก็เพื่อส่งเสริมลักษณะการต่อสู้ของนินจาที่ไม่ใช่การเอาพลังของตนเองเข้าว่า แต่เป็นการใช้พลังของศัตรูนั้นทำลายตัวมันเอง ระบบแขนกลนินจาและอุปกรณ์นินจาที่มีจุดประสงค์ของการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปช่วยให้เราได้สนุกไปกับการเลือกใช้มันราวกับกำลังปฏิบัติภารกิจของนินจาอยู่จริงๆ

ระบบลอบเร้นของเกมก็รวดเร็วกระฉับกระเฉงในแบบที่นินจาควรจะเป็น จริงอยู่ว่ามันไม่ได้สมจริงมากโดยเฉพาะในแง่ของ A.I. ศัตรู แต่เพราะอย่างนั้นมันจึงเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้สัมผัสการลอบฆ่าศัตรูที่รวดเร็วลื่นไหลไม่น่ารำคาญได้ ระบบต่างๆเหล่านี้แม้จะไม่สมบูรณ์แบบและมีข้อบกพร่องในเทคนิคอยู่บ้าง แต่มันก็สะท้อนได้ดีว่าทางทีมพัฒนานั้นผ่านการตกตะกอนมาอย่างดีแล้วว่า นี่คือการนำเสนอที่จะสื่อสารความเป็นนินจาในแบบของพวกเขาออกมาได้ดีที่สุด

สิ่งเดียวจริงๆที่อาจจะเป็นเรื่องน่ารำคาญนิดหน่อยสำหรับสายแฟชั่นก็คือการที่เราไม่สามารถตกแต่งตัวละครหรือเปลี่ยนสีเสื้อผ้าต่างๆได้ จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะงานออกแบบต่างๆนั้นถูกทำออกมาในแบบที่ลงตัวและจบในตัวเองอยู่แล้ว แต่ในยุคที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ต้องการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ในการเล่นของตัวเอง การมีพื้นที่เล็กๆให้ผู้เล่นได้ออกแบบประสบการณ์ของตัวเองผ่านสีผ้าหน้าผมของตัวละครนั้นก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย

 

 

สรุป

Sekiro : Shadow Dies Twice เป็นทั้งเกม Action-RPG ที่ยอดเยี่ยมด้วยตัวมันเองและยังเป็นการดัดแปลงโครงสร้างของเกมตระกูลโซลให้มีความเป็นแอคชั่นมากขึ้นได้อย่างลงตัว แม้ความยากของเกมจะดูเป็นกำแพงที่สูงชันสำหรับบางคน และการเล่าเรื่องของเกมที่อาจจะไม่ได้น่าหลงใหลเท่ากับเกมตระกูลโซลอื่นๆ แต่เสียงของดาบที่กระทบกันจากการแพรี่นั้นจะก้องกังวานและทำให้คุณรู้สึกดีทุกครั้งที่ก้าวข้ามความยากลำบากมาได้ งานออกแบบฉากและโลกอันสวยงามแต่ก็เต็มไปอันตรายจะเย้ายวนให้คุณหยั่งเท้าไปเผชิญหน้ามันเสมอแม้ความตายจะอยู่ตรงหน้า และส่วนตัวผู้เขียนมองว่า นี่คือเกมที่พิสูจน์ว่าการสร้างเกมโลกเปิดนั้นไม่จำเป็นต้องเอาขนาดเข้าว่า มันสามารถเป็นฉากแคบๆหลายๆฉากที่ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และความหมาย เชื่อมต่อเชื่อมโยงกันอย่างลื่นไหลและสมเหตุสมผล ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกตื่นตาตื่นใจและอยากจะออกไปสำรวจมันมากยิ่งกว่าพื้นโล่งที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ

หากไม่ใช่คนที่ไม่ชอบเกมยากหรือไม่มีเวลาเล่นเกมมากพอที่จะค่อยๆเล่นค่อยๆฝึกไปทีละนิดทีละหน่อยแล้วล่ะก็ Sekiro : Shadows Die Twice คือเกมระดับ Game of the Year ที่คุณไม่ควรพลาดอย่างแรงเลยล่ะ

 

Review by

another_013

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook