Review Soul Calibur VI ประตูสำคัญบานแรกที่จะทำให้คุณโปรดปรานเกมแนวไฟติ้ง

Review Soul Calibur VI ประตูสำคัญบานแรกที่จะทำให้คุณโปรดปรานเกมแนวไฟติ้ง

Review Soul Calibur VI ประตูสำคัญบานแรกที่จะทำให้คุณโปรดปรานเกมแนวไฟติ้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

**รีวิวเกมนี้ในเวอร์ชั่น PlayStation 4 เครื่องธรรมดา** บ่นนำ

ขอสารภาพตามตรงว่าเกมแนวไฟติ้งมันเต็มไปด้วยระบบการเล่นที่ผู้เขียนเองไม่ถนัดเลยสักอย่าง ทั้งการต้องแข่งขันกับผู้เล่นด้วยกันเอง, รูปแบบการเล่นของเกมที่เน้นการชิงจังหวะความได้เปรียบแบบฉับพลัน ไปจนถึงการต้องมาฝึกปรือคอมโบหรือจดจำปุ่มกดท่าพิเศษเฉพาะตัวละครต่างๆ 

แต่หลังจากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเล่น Soul Calibur VI ก็ได้ค้นพบว่าเกมภาคล่าสุดของซีรีส์ไฟติ้งศาสตราวุธนี้ คือ “ประตูสำคัญบานแรก” ที่จะชักชวนให้เกมเมอร์ผู้ไม่หือไม่อือในเกมแนวดังกล่าว ชื่นชอบไปจนถึงโปรดปรานเกมแนวไฟติ้งไปโดยปริยายเลยก็เป็นได้ แต่จะด้วยอะไร? และอย่างไร? เชิญหาคำตอบได้ในรีวิวนี้ได้เลย

ระบบการต่อสู้เข้าถึงง่าย และพร้อมจะต่อยอดสู่ขั้นสูง

อย่างที่บอกครับ ผู้เขียนไม่เคยมีโอกาสแตะซีรีส์นี้สักภาค เลยไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเกมมีอะไรที่เพิ่มเสริมหรือเปลี่ยนแปลงเข้ามา มีเพียงสิ่งเดียวที่กล้ายืนยัน คือระบบการเล่น “ที่เข้าถึงได้ง่ายเอามากๆ” โดยเบื้องต้นตัวเกมจะยืนพื้นการโจมตีหลักๆ ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ การโจมตีในแนวตั้ง แนวขวางและการเตะ ที่สามารถต่อยอดกลายเป็นท่าคอมโบที่สร้างความเสียหายได้ในระดับหนึ่งจากการรัวปุ่ม บรรดาท่าพิเศษเฉพาะตัวละครทั้งหลายที่จะมีวิธีการกดที่ใกล้เคียงกันด้วยการผสมปุ่มโจมตีและทิศทางอย่างละปุ่ม (เดินหน้าสองครั้งแล้วโจมตีแนวขวาง หรือถอยหลังแล้วโจมตีแนวตั้งต่อ เป็นต้น) ความเร็วของการต่อสู้ ที่ผู้เล่นจะยังพอกะจังหวะตั้งรับการโจมตีของอีกฝั่งได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ฯลฯ

แต่เมื่อผู้เล่นได้ขลุกอยู่กับเกมไปได้สักพัก ก็จะรู้ว่า Soul Calibur VI มีการเล่นขั้นสูงที่รองรับเราอยู่อีกทอดตามแบบฉบับเกมแนวไฟติ้ง โดยในเกมนี้ จะเน้นการตัดจังหวะในการต่อสู้เพื่อสร้างความได้เปรียบ ทั้งจากความเร็วในการออกท่าของการโจมตีต่างๆ ที่ฝั่งช้ากว่าจะติดสถานะชะงักเพียงชั่วครู่แต่มันก็เป็นระยะเวลามากพอที่จะถูกโจมตีประมาณหนึ่ง, การเคลื่อนที่หลายทิศทาง (เดินหน้า, ถอยหลัง, เดินวนรอบศัตรู, ฯลฯ) ที่จะใช้ในการหลบหลีกการโจมตีแนวตั้งและสวนกลับได้จนกว่าอีกฝั่งจะตั้งตัวได้

Reversal Edge ระบบที่จะพลิกโอกาสให้ฝั่งที่เสียเปรียบตีติ้นขึ้นมาได้อีกครั้ง

แต่หากการต่อสู้ยังไม่จบลง Reversal Edge และ Soul Charge จะไม่ยอมให้คุณเป็นผู้ตามเพียงฝ่ายเดียว เพราะทั้งสองคือระบบการต่อสู้ที่จะพลิกจังหวะให้ผู้เล่นตีตื้นขึ้นมาได้ โดย Reversal Edge จะเป็นการใช้ท่าแอนิเมชั่นชะลอเวลาให้ทั้งสองฝั่งได้เลือกท่าโจมตีเบื้องต้น (โจมตีแนวตั้ง แนวนอน และเตะ) ที่จะแพ้ชนะทางกันเป็นวัฏจักรตามกฎของการละเล่น ค้อน-กรรไกร-กระดาษ ซึ่งฝ่ายไหนที่เลือกท่ามาได้ชนะทาง ก็จะได้สิทธิในการสร้างความเสียหายจำนวนหนึ่งใส่อีกฝั่งพร้อมกลับมามีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งเมื่อจบท่าลง

ส่วน Soul Charge จะเป็นท่าพิเศษที่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกจของท่านี้เต็มอย่างน้อยหนึ่งหลอด โดยท่าที่ใช้เกจหลอดเดียวจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการต่อสู้ให้กับตัวละครของเราชั่วขณะหนึ่ง แต่หากใช้เกจสองหลอดก็จะเป็นปล่อยคัทซีนท่าไม้ตายที่สร้างความเสียหายในระดับสูง

ระบบการต่อสู้อันเป็นหัวใจหลักของเกมนี้ ผู้เขียนมองว่าดีไซน์ออกมาดีใช้ได้เลย ไม่ว่าจะจากการวางตัวที่เป็นมิตรกับผู้เล่นที่แม้จะไม่เคยแตะต้องเกมแนวนี้มาก่อนหรือชำนาญนัก (อย่างผู้เขียน ฮ่าๆ) แต่ก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว แถมยังสามารถต่อยอดความสนุกเข้าไปอีกขั้นจากการควบคุมทั้งหลายที่ไม่ได้ซับซ้อนแต่สามารถออกมามีเชิงลึกในการเล่นได้ ในส่วนของระบบการต่อสู้จึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดใน Soul Calibur VI เลยทีเดียว

มอบอิสระในการตามติดเรื่องราวตัวละครที่โปรดปราน แต่ดันมาตกม้าตายด้วยวิธีการนำเสนอ

ถ้าจะให้ว่ากันตามตรง ภาพรวมเนื้อเรื่องของ Soul Calibur VI ในโหมด Story คือจุดที่มีความน่าสนใจน้อยที่สุดของเกม ทั้งจากเนื้อเรื่องที่นำเสนอออกมาได้หลงยุคผิดสมัย ไม่มีชั้นเชิงในการเล่าใดๆ มีแต่ความเรียบง่ายที่ชวนให้เบื่อหน่าย และไหนจะวิธีการนำเสนอแบบหลักๆ ที่หากลองในมุมใจเขาใจเราดู ผู้เขียนเข้าใจว่าเกมภาคนี้น่าจะมีงบในการสร้างไม่มากมายเท่าไหร่นัก เพราะตัวเกมได้ใช้ภาพวาดสไตล์กราฟิกโนเวล (ที่เอาจริงๆ ก็ไม่ถึงกับแย่ เพียงแต่มันละเมียดหรือสวยงามได้มากกว่านี้) ถ่ายทอดเรื่องราวแทบจะทั้งหมด ที่มันก็พาลให้ผู้เขียนคิดขึ้นมาว่าถ้าไม่ใส่ใจแล้วจะทำโหมดนี้ขึ้นมาทำไมกัน?

อยากรู้เรื่องราวของใคร เลือกได้เลย!

แต่ในงานที่ดูสุกเอาเผากิน จริงๆ แล้วก็มีสิ่งที่ดูใส่ใจในรายละเอียดเหมือนกันนั่นคือ อิสระในการเลือกรับทราบเรื่องราวของตัวละครในเกม ที่ผู้เล่นจะสามารถรับรู้เนื้อเรื่องของตัวละครใดก่อนก็ได้ จะไล่เคลียร์จนหมดเพื่อนำเรื่องราวจากทุกตัวมาปะติดปะต่อกันโดยสมบูรณ์ หรือจะเลือกดูการเดินทางเฉพาะตัวละครที่ชอบก็ยังได้ (Geralt จาก the Witcher ยังมีเนื้อเรื่องในโหมดนี้เลยคิดดูละกัน!)

คัทซีนที่กำกับแอกชั่นได้ใช้เลยทีเดียว แต่ดั้นนนนมีน้อยโผล่มาในเกมน้อยมากๆ

และในส่วนของเส้นเรื่องหลัก บางจังหวะที่เป็นช่วงสำคัญของเรื่องราว ตัวเกมก็พอจะมีเรียลไทม์คัทซีนมารองรับเนื้อเรื่อง ณ ตอนนั้น ที่ก็ถือว่ากำกับฉากออกมาใช้ได้ น่าเสียดายที่มีออกมาน้อยมากๆ

อาจจะจริงที่ยังไงเสียระบบการเล่นคือ หัวใจหลักในเกมแนวไฟติ้งอยู่วันเย็นค่ำ แต่ถ้าหากดูในยุคสมัยปัจจุบันที่ตลาดของเกมต่อสู้กันอย่างดุเดือดด้วยอภิมหาสารพัดคอนเทนต์มัดใจผู้เล่นซึ่ง “เนื้อเรื่อง” ก็เป็นหนึ่งในนั้น  (ดูอย่าง Injustice 2 เป็นตัวอย่างก็ได้) และไหนจะทั้งจากที่ตัวเกมเอง ชูชัดด้านโหมดเนื้อเรื่อง แต่ทำไมถึงคุณภาพของวิธีการนำเสนอถึงต่ำกว่ามาตรฐานในเกมปัจจุบัน?

Libra of Souls โหมดการเล่นพระเอกของเกม

อาจกล่าวได้ว่านี่คือโหมดการเล่นที่เป็นพระเอกของเกมอย่างแท้จริง ด้วยการให้ผู้เล่นได้สร้างสรรค์ตัวละครที่เริ่มตั้งแต่การเลือกเผ่าพันธุ์คนปกติไปจนผิดแปลกเกินมนุษย์มนา (โครงกระดูก, มนุษย์กิ้งก่า ฯลฯ), การกำหนดสไตล์การต่อสู้ที่อ้างอิงจากตัวละครต้นตำรับของเกม, และการเนรมิตใบหน้าเสื้อผ้าหน้าผมและสีสันที่ “โคตรจะยืดหยุ่น”เพื่อนำไปผจญภัยยังโลกของ Soul Calibur VI ที่ตลอดทางเราจะได้พบตัวละครต้นฉบับจากเกม ในรูปแบบการเล่นลูกผสมเกมแนว RPG ที่ตัวละครของผู้เล่นจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากการเก็บเกี่ยวเลเวล

เราจะสามารถเลือกปรับแต่งได้แทบจะทุกอย่างแบบละเอียดถี่ ไล่ตั้งแต่หมวกที่สวมใส่, เสื้อซับในและเสื้อคลุม, ถุงมือหรือสนับเข่า ไปจนถึงการเลือกเสริมชิ้นส่วนติดบนร่างกาย ฯลฯ  จากบรรดาเสื้อผ้าที่มีให้เลือกในโหมดนี้โดยตรง หรือจะเป็นผสมเล็กปนน้อยจากชิ้นส่วนเสื้อผ้าของตัวละครต้นฉบับของเกม ที่ผู้เขียนรับรองได้ว่าผู้เล่นจะติดพันและเพลิดเพลินในส่วนนี้อย่างแน่นอน แต่ในส่วนของเนื้อเรื่องของโหมดดังกล่าว ก็ยังมีข้อเสียในแบบเดียวกันกับโหมดเนื้อเรื่องหลัก ที่วิธีการนำเสนอจะใช้เพียงแค่ภาพวาดและเสียงพากย์ในการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไป ที่สำหรับผู้เขียนแล้ว “มันไม่สามารถสร้างความเข้าถึงในเนื้อเรื่องได้เลยสักนิด”

แต่หากชั่งน้ำหนักจากข้อดีและข้อด้อยใน Libra of Souls ดูแล้วละก็ จะพบว่าในโหมดการเล่นดังกล่าว ยังเต็มไปด้วยความสนุกที่ชวนให้ขลุกติดอยู่กับหน้าจอได้เป็นเวลานาน ทั้งจากระบบการเล่นโดยตรงเอง ที่ใส่องค์ประกอบ RPG เข้ามาให้ผู้เล่นได้ติดพันอยู่กับการไต่เลเวล และจากระบบสร้างตัวละครที่จะมอบอิสระให้ผู้เล่นได้ปั้นแต่งนักสู้ในแบบของเราขึ้นมาเพื่อออกผจญภัยไปยังดินแดนการต่อสู้ด้วยศาสตรานี้

สรุป

โดยรวม Soul Calibur VI คือเกมแนวไฟติ้งที่เป็นดั่งประตูสำคัญบานแรกให้ผู้เล่นที่ไม่ยี่ระในเกมแนวนี้ ได้ริ่เริ่มความสนุกไปกับความเข้าถึงง่ายของเกม ก่อนที่ในภายหลังจะรู้สึกท้าทายไปกับมิติการต่อสู้ที่ลึกไม่แพ้ซีรีส์ใดๆ และแม้ในส่วนของโหมดเนื้อเรื่อง จะไม่ได้งานละเมียดสักเท่าไหร่ แต่โหมด Libra of Souls จะลบความน่าผิดหวังในโหมดเนื้อเรื่องออกไปได้ด้วยความยืดหยุ่นที่โหมดนี้มอบให้ทั้งจากการสร้างตัวละครและองค์ประกอบ RPG

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook