วิธีปฏิเสธงานจากเพื่อนร่วมงาน อย่างมีชั้นเชิงและถนอมน้ำใจ

วิธีปฏิเสธงานจากเพื่อนร่วมงาน อย่างมีชั้นเชิงและถนอมน้ำใจ

วิธีปฏิเสธงานจากเพื่อนร่วมงาน อย่างมีชั้นเชิงและถนอมน้ำใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่า “การปฏิเสธ” หรือก็คือเมื่อมีสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้คำว่า “ไม่” หลายต่อหลายครั้งเลยทีเดียวที่ทำให้หลายคนลำบากใจ จนเกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่เสมอ แม้ว่าอยากที่จะปฏิเสธออกไปอย่างกล้าหาญและเด็ดขาด แต่ก็กลัวว่าถ้าพูดออกไปตรง ๆ แล้วจะทำให้อีกฝ่ายมองไม่ดี กลัวว่าถ้าไม่ช่วย จะถูกหาว่าไม่มีน้ำใจ และอาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างกันเข้าก็ได้

จะเห็นได้เลยว่าการเอ่ยปฏิเสธนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งคนที่พูดปฏิเสธใครไม่เป็นก็ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะคุณจะรับปากตกลงอย่างเดียว ไม่ปฏิเสธใครเลย ทั้งที่ตัวเองไม่เต็มใจจะทำ และบางทีก็ไม่ได้ว่างที่จะทำ

จริง ๆ แล้ว การแสดงความมีน้ำใจหรือการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานนั้นเป็นเรื่องที่ดี หากไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง เราก็สามารถรับปากช่วยเหลือได้อย่างเต็มใจ แต่มีอยู่บ่อยครั้งที่เรารับปากเพราะเกรงใจ ไม่ได้เต็มใจเลยแม้แต่น้อย เสร็จแล้วก็กลับมานั่งกลุ้ม กุมขมับ ปวดหัว ที่ทุกอย่างมันมากองอยู่ที่เราคนเดียว และยิ่งเราเงียบ หรือตกปากรับคำใครต่อใครเสมอ มันก็จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาในวันข้างหน้าได้เช่นกัน

ซึ่งถ้าคำว่า “น้ำใจ” มันจะทำให้คุณลำบากขนาดนี้ คงต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าสิ่งที่คุณทำให้คนอื่นนั้นคือน้ำใจหรือกำลังเอาเปรียบตัวเอง คุณช่วยเหลือคนอื่นได้ แต่ต้องไม่ใช่ทุกครั้ง โดยเฉพาะกับคนที่ขอให้คุณช่วยบ่อยเกินไป จนดูเหมือนว่าเขารอจะพึ่งหรือโยนงานให้คุณทุกครั้งมากกว่า อีกฝ่ายก็ได้ใจ เคยตัวอีก ด้วยว่าขอให้ช่วยทีไรคุณก็ช่วยเสมอ จนเริ่มที่จะไม่เกรงใจคุณอีกต่อไป คุณต้องระลึกไว้เสมอว่าอย่าพยายามจะทำให้ทุกคนพอใจด้วยวิธีนี้ คุณช่วยเหลือทุกคนไม่ได้ และคนฉลาดคือคนที่จะไม่รับความเดือดร้อนเอาไว้ทั้งหมดเอง

ดังนั้น การไม่ช่วยในบางสิ่งบางอย่าง ไม่ได้แปลว่าคุณไม่มีน้ำใจหรือเห็นแก่ตัว คุณจึงจำเป็นต้องหัดปฏิเสธงานที่ไม่จำเป็น หรืองานที่อยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของตัวเองให้เป็นบ้าง งานของใคร เจ้าของก็ควรต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่มาโยนหรือขอให้คนอื่นทำ อย่าปล่อยให้งานทุกชิ้นประดังประเดเข้ามาหาคุณ แล้วรับงานทุกอย่างไว้ที่ตัวเองคนเดียว

เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี งานตัวเองเสร็จ และอยากจดจ่อเฉพาะกับแค่งานตัวเอง คุณควรพิจารณาการพูด “ปฏิเสธ” ให้เป็น แต่จะปฏิเสธอย่างไรแบบที่มีชั้นเชิงและยังถนอมน้ำใจคนฟัง แบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” เมื่อเป็นเช่นนี้ มาดูกันว่าจะมีวิธีปฏิเสธอย่างไร ที่ทำให้ตัวเราเองไม่รู้สึกผิดที่ไม่ช่วยพวกเขาตามคำขอ และพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าคุณทำร้ายจิตใจมากเกินไป

แสดงความเห็นใจก่อน แต่ต้องขอโทษด้วยที่ฉันช่วยไม่ได้จริง ๆ

กฎของการปฏิเสธแบบเป็นมิตรกับคนที่เราไม่ได้สนิทด้วย คืออย่าเพิ่งโพล่งคำว่า “ไม่” ออกไปทันที แต่ต้องค่อย ๆ ดึงสถานการณ์ให้มาเป็นใจกับฝั่งเรา เมื่อเขาเข้ามาขอให้เราช่วยทำงานนั้นนี้ให้ แต่เราไม่สะดวก (ไม่อยาก) ที่จะทำให้ ลองเริ่มจากการแสดงความเห็นใจก่อน รู้สึกกังวลแทนนะ อยากช่วยนะ แล้วค่อยเริ่มต้นปฏิเสธอย่างละมุนละม่อมว่าแต่ฉันเองก็ต้องขอโทษที่ช่วยเธอไม่ได้จริง ๆ เพราะงานที่ฉันรับผิดชอบก็ยังทำไม่เสร็จเลย นี่ก็งานเร่งด่วนเหมือนกัน ถ้าฉันไปทำงานนั้นให้เธอ แล้วงานฉันใครจะทำล่ะ?

นิ่งเงียบสงบสยบความเคลื่อนไหว ให้เห็นว่าเราลำบากใจ

มุกที่แสดงให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าเราลำบากใจ เพื่อหวังให้ฝ่ายนั้นเกรงใจ ใช้ไม่ได้กับทุกคนนะขอเตือนไว้ก่อน ลองดูว่าใครพอจะใช้มุกนี้ด้วยได้ แทนที่เราจะรีบตอบตกลงหรือปฏิเสธหลังจากที่เพื่อนร่วมงานผู้นั้นโยนงานมา ให้คุณนิ่งเงียบ (แต่ทำเหมือนว่าเราตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูดแล้วนะ) ความเงียบจะกดดันและสร้างบรรยากาศชวนอึดอัดขึ้นมา แล้วมันจะทำให้คุณอ่านออกได้ยากกว่าเดิมด้วย ไม่มีใครอยากจะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ชวนคลื่นเหียนนี้ได้นานหรอก แล้วเราค่อยตอบกลับไปด้วยหน้านิ่ง ๆ น้ำเสียงนิ่ง ๆ ว่า “ไม่ได้หรอก” เขาจะยอมรับการปฏิเสธของคุณไปแบบงง ๆ

ขอเช็กตารางงานตัวเองก่อนนะ

ในกรณีที่เกรงใจสุด ๆ ทำอย่างไรก็ไม่กล้าที่จะพูดปฏิเสธแบบตรง ๆ วิธีขอเช็กงานของตัวเองดูก่อนจึงเป็นมุกคลาสสิกที่ใช้ในการปฏิเสธทางอ้อมได้ มันคือการปฏิเสธงานจากคนอื่นด้วยการเริ่มต้นแบ่งรับแบ่งสู้ ก็อยากช่วยแหละนะ แต่กลัวจะไม่ว่าง กลัวว่างานตัวเองจะแน่นเกินไป ขอไปเช็กงานตัวเองดูก่อนละกันแล้วจะแจ้งให้ทราบเป็นการตัดบท สุดท้ายก็คือไม่รับปากว่าจะช่วยและก็ยังไม่ได้ปฏิเสธทันที จากนั้นก็เว้นช่วงเวลาไปพอเป็นพิธี ก่อนจะกลับมาบอกว่าไม่สะดวกที่จะช่วยจริง ๆ คิวงานแน่นมาก ไม่มีที่ให้เสียบเลย ครั้งนี้ฉันช่วยไม่ได้จริง ๆ

ลองยื่นข้อเสนอหรือเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกัน

บางคนเขาเคยตัวไปแล้ว มาขอให้คุณช่วยทีไรคุณก็ช่วยทุกครั้ง แล้วก็ชอบมาแบบไม่เกรงใจ จนครั้งนี้คุณเองก็ทนไม่ไหวแล้ว อยากจะเลิกให้ความช่วยเหลือเสียที ซึ่งถ้าเขาตื๊อคุณไม่เลิก ลองทำตัวแบบที่แปลกไปจากเดิม คือ จะช่วยก็ได้ แต่ฉันมีเงื่อนไขหรือข้อแลกเปลี่ยน ที่ฝั่งเธอต้องแลกกับฉันบ้าง มุกนี้แนะนำให้เล่นกับคนที่ชอบมาขอให้คุณช่วยบ่อย ๆ บ่อยจนดูไม่มีมารยาท มันก็ต้องดัดนิสัยกันบ้าง ถ้าเขาไม่ยอมที่จะยื่นหมูยื่นแมวกับคุณ ก็ไม่ต้องสนใจ “ฉันจะไม่ช่วยงานเธออีกแล้ว งานฉันก็ไม่มีใครช่วย” เขาจะเริ่มรู้ตัวว่าคุณไม่ง่ายให้หลอกใช้อีกต่อไปแล้ว

ทำให้เห็นว่าคุณไม่สะดวกจะรับงานใด ๆ เพิ่มอีกแล้ว

บางทีถ้าการพูดปฏิเสธมันยากเกินไปนักละก็ ใช้วิธีทำให้เห็นจะๆ ไปเลยละกัน ถ้าคุณไม่อยากให้ใครเอางานมาให้เพิ่ม คุณก็แค่ทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้ ยุ่งชนิดที่ว่าไม่สามารถรับงานที่จะเข้ามาแทรกกลางได้อีกต่อไป “รับมาก็ทำให้ไม่ทัน เธอจะมาเร่ง ๆ เอางานจากฉันไม่ได้ด้วย (เพราะฉันไม่ว่าง งานฉันเองยังยุ่งจะแย่) ถ้าเธอส่งงานไม่ทันฉันไม่รับผิดชอบด้วย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหัวหน้ารู้ว่าเธอโยนงานตัวเองให้คนอื่นทำ!” ทั้งที่ความจริง คุณอาจจะยุ่งวุ่นวายกับเรื่องตัวเองอยู่จริง ๆ หรือจะแค่เป็นมุกปฏิเสธงานก็ตามที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook