วิธีทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ "เขม่น" หน้ากัน

วิธีทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ "เขม่น" หน้ากัน

วิธีทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ "เขม่น" หน้ากัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยรู้สึกไม่อยากไปทำงานเพราะไม่ชอบหน้าเพื่อนร่วมงานบางคนบ้างหรือไม่? จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องปกติธรรมดานะคนนั้นอาจเป็นคนที่เราไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรกเจอ บางทีก็เพราะเรื่องส่วนตัวที่เขาชอบเข้ามาตอแยวุ่นวาย หรือบางทีก็มาจากปัญหาเรื่องงานที่เคลียร์กันไม่รู้เรื่อง จนสุดท้ายก็เข้าหน้ากันไม่ติด ทำให้เกิดความรู้สึกเหม็นขี้หน้า เกลียดขี้หน้า เขม่นกันไปมา ถือเป็นเรื่องน่าปวดหัวและเสียสุขภาพจิตไม่น้อยเลย

เมื่อเราต้องทำงานกับคนที่เรารู้สึกไม่ชอบหน้า หรือต่างคนต่างก็ไม่ชอบหน้ากัน ทั้งอาจไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว หรือไม่ชอบกันเพราะการทำงาน ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือการติดต่องานและการทำงานร่วมกัน มันยากอยู่นะที่ต้องทำแบบนั้น แต่ถามว่าจำเป็นไหม จำเป็นมากเลยล่ะ ในเมื่อยังต้องทำงานด้วยกันอยู่ ไม่เช่นนั้นงานก็พัง บริษัทเสียหาย ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แล้วสุดท้ายอาจได้ซองขาวกันทั้งคู่ก็เป็นได้

วิธีแก้ปัญหานี้มีอยู่แค่ 2 วิธี คือ หนีหรือสู้ ถ้าหนีก็คือเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่ทำงานเป็นอันจบ ไปเจอสังคมใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ถ้าคิดจะอยู่ต่อก็ต้องสู้ สู้อย่างไรดีกับเพื่อนร่วมงานที่เขม่นหน้ากัน โต ๆ กันแล้ว จะมาทะเลาะกันแบบเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ด้วย ใช้กำลังยิ่งไม่ได้ใหญ่ จึงต้องสู้ด้วยสติปัญญา และวุฒิภาวะทางอารมณ์ จึงจะเป็นต่อในศึกนี้

พูดคุยแค่เรื่องงาน งานจบก็จบกัน

นี่อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้ว คือ การคุยกันเท่าที่จำเป็น ซึ่งมันก็คงมีแต่เรื่องงานเท่านั้น เมื่องานจบก็จบกันไป (จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากจะเสวนาด้วยเท่าไร) เพราะถึงเกลียดกันยังไง งานก็ยังต้องทำอยู่ดี แค่รักษาระยะห่างไว้ จะได้ไม่มีเรื่องขัดแย้งกันให้ปวดหัวเพิ่ม ที่สำคัญต้องมีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะวางอคติ ความเกลียดชังไว้ก่อนตอนที่ต้องทำงานด้วยกัน ถ้าเลี่ยงการคุยแบบเผชิญหน้าได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ก็เจอกันเฉพาะงานที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

เตรียมรับมือกับเรื่องเซอร์ไพรส์

ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ชอบหน้ากัน ก็อย่าได้คาดหวังว่าเขาจะปฏิบัติกับเราดี ๆ บางทีอาจจะมีเข้ามาพูดจาแซะให้หงุดหงิด เทงานให้เราทำ ทำงานเอาหน้า หาเรื่องชวนทะเลาะ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นใส่ร้ายแบบในละครเลยก็ได้ สถานการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้หมด จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าว่าจะมีวันแย่ ๆ กับคนนี้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเราไม่คาดหวังว่าเขาจะมาดี ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ วันไหนที่เขาเซอร์ไพรส์เราขึ้นมา จะได้มีทางหนีทีไล่

ติดต่ออะไรมีหลักฐานเสมอ

อาจจะเหมือนดูละครมากเกินไป แต่วิธีนี้ถือเป็นการเซฟตัวเองได้ดีทีเดียว นอกจากการพูดคุยกันเท่าที่จำเป็น ควรต้องหลีกเลี่ยงการคุยงานด้วยปากเปล่า มีหลักฐานยืนยันในการติดต่องานกันทุกครั้งก็จะดีมาก เช่น อัดเสียง แชตคุยงาน อีเมล เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดพลาด คลาดเคลื่อน หรือถูกใส่ความแบบในละคร ไม่ว่าจะเพราะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาจะได้ชี้แจงหัวหน้าถูก แล้วเราก็มีหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ใจของเราแล้ว

แสดงความเป็นมิตร แต่ไม่ต้องพยายามจะเป็นเพื่อน

มิตรภาพเป็นสิ่งที่มอบให้ได้กับทุกคน ไม่ว่าเราจะเห็นเขา (หรือเขาเห็นเรา) เป็นศัตรูก็ตาม ถือเป็นมารยาทในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องสนิทสนมกันแต่ประการใด และการมีมิตรภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการเป็นเพื่อนกัน ฉะนั้น มันอาจจะยากหน่อยที่ต้องใส่หน้ากากเพื่อเป็นมารยาทกับคนที่หายใจร่วมกัน แต่มันก็ยังง่ายกว่าการพยายามจะเป็นเพื่อนกับเขาคนนั้นทั้งที่ในใจก่นด่าเขาอยู่ แบบนั้นมองจากอวกาศดูก็รู้ว่าเสแสร้ง น่าหมั่นไส้ด้วย

คิดในแง่บวก มันก็สนุกไปอีกแบบนะ

ชีวิตที่น่าเบื่อ คือชีวิตที่ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นเลยสักนิด แม้ว่าการมาทำงานจะทำให้ต้องมาพบเจอกับคนที่ทำให้เสียอารมณ์แต่เช้า แต่ลองคิดในมุมบวก (คิดจะบวก) ดูก็ได้ว่าอย่างน้อยมันก็สนุกไปอีกแบบ การทำงานจะได้มีอรรถรสขึ้นมาหน่อย อย่างการวางแผนต่อสู้ด้วยผลงาน หรือเชิดใส่กันไปมา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เสียงานเสียการ เอาที่พอดี แค่ให้ชีวิตไม่น่าเบื่อ เลิกงานก็จบทิ้งความเกลียดชังไว้ที่ทำงานไม่ต้องเก็บไปคิดต่อที่บ้าน วันพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook