ทำไมกระปุกออมสินจึงเป็นรูปหมู เรื่องนี้มีที่มา

ทำไมกระปุกออมสินจึงเป็นรูปหมู เรื่องนี้มีที่มา

ทำไมกระปุกออมสินจึงเป็นรูปหมู เรื่องนี้มีที่มา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมกระปุกออมสินถึงเป็นรูปหมู? ทำไมไม่เป็นกระต่าย แมว หมา หมี เพราะมันก็น่ารักเหมือนกัน แน่อนว่ากระปุกออมสินก็มีรูปอื่นเหมือนกัน เพียงแต่เวลาที่เรานึกถึงกระปุกออมสินมันก็จะต้องเป็นรูปหมูสีชมพูทุกที ไม่เพียงเท่านั้น คำว่ากระปุกออมสินในภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า Piggy Bank เสียด้วย ตำนานว่าด้วยกระปุกออมสินรูปหมูสีชมพู มีมาตั้งแต่เมื่อไร Tonkit360 จะพาไปหาคำตอบ

มนุษย์รู้จักเก็บออมมานานแล้ว

วิวัฒนาการของมนุษย์ สอนให้มนุษย์รู้จักอดออมมานานแล้ว มีมาก่อนที่จะมีธนาคารเสียอีก อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณ เงินอยู่ในรูปของเหรียญไม่ใช่ธนบัตร ผู้คนในสมัยนั้นจึงต้องการภาชนะบางอย่างที่สามารถใช้เก็บเหรียญล้ำค่าเหล่านี้ ซึ่งสามารถพบหลักฐานทางโบราณวัตถุที่เชื่อว่าเป็นกระปุกออมสินของมนุษย์ในยุคนั้นได้ในหลายวัฒนธรรม แต่กระปุกออมสินเพิ่งจะกลายเป็นของใช้ทั่วไปในช่วงยุคกลาง

earthen-pot-money-jar

ต้นกำเนิดของกระปุกออมสินมีขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 ในยุโรป กระปุกออมสินในสมัยนั้น คือกระปุกที่ปั้นขึ้นจากดินเหนียวมีช่องไว้สำหรับหยอด เมื่อจะนำเงินออกต้องทุบทิ้งเพียงอย่างเดียว โดยหน้าตาของกระปุกดินเหนียวนี้เหมือนโหลหรือไหมากกว่าที่จะเป็นหมู ดินเหนียว ที่ในยุคนั้นเรียกว่า “พิก” (Pygg) เป็นวัสดุที่นำมาใช้ปั้นเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำให้โถหรือไหที่ใช้เก็บเงินถูกเรียกว่า “Pygg Pot”

ที่เก็บเงินรูปหมูตัวอ้วน

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชาวตะวันตกมีระบบตัวอักษรภาษาอังกฤษใช้แล้ว คำว่าพิก ที่เดิมที่เขียนว่า Pygg ก็แผลงมาเป็น Pigge และสุดท้ายเหลือแค่ Pig ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า Pig ที่แปลว่า หมู มีข้อสันนิษฐานว่า Pygg ในยุคนั้นน่าจะอ่านว่า พัก (Pug) กระทั่งเสียงการอ่านเริ่มเพี้ยนไป ตัวอักษร y ที่เคยออกเสียง U ก็เปลี่ยนมาเป็นเสียง I แบบปัจจุบัน ทำให้ “พัก” กลายเป็น “พิก” นั่นเอง

พอมาถึงยุคศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษมีการทำเครื่องปั้นดินเผาเช่นเดียวกัน และในยุคนั้นมีการคิดค้นระบบธนาคารแล้ว ช่างปั้นดินเผาชาวอังกฤษรายหนึ่งได้รับออเดอร์ให้ทำกล่องเก็บเงิน (Banks) ให้ โดยใช้คำดั้งเดิมคือ Pygg Pot แทนที่เขาจะปั้นเป็นโหลหรือไหตามความหมายเดิม เขากลับปั้นมันออกมาเป็นรูป “หมู” ซะงั้น และดันกลายเป็นว่าเจ้าหมูเก็บเงินนี้ก็มีคนชอบมากมาย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เห็นว่าหมูมันก็น่ารักเหมือนกัน ทำให้เครื่องปั้นดินเผาเก็บเงินรูปหมู แพร่หลายไปทั่วโลก เรื่องเข้าใจผิดในวันนั้น กลายมาเป็นสัญลักษณ์กระปุกออมสินรูปหมูดังเช่นทุกวันนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นอีก เช่น คำว่า Pirly เป็นคำที่ชาวสก็อตใช้เรียกที่เก็บเหรียญ ซึ่งอาจมาจากคำว่า “pyrl” ของชาวสก็อต ที่หมายถึงการจิ้มหรือแทงเข้าไป หรือความหมายก็คือการใส่เหรียญเข้าไป

majapahit-piggy-bank

หรือข้อสันนิษฐาน Cèlèngan โดยนักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่ากระปุกออมสินมีต้นกำเนิดที่อินโดนีเซีย Cèlèngan เป็นคำศัพท์ของชาวอินโดนีเซียและภาษาชวา ที่ใช้อ้างถึงสถานที่ที่เก็บเงิน ทั้ง cèlèngan ยังมีความหมายว่า “เหมือนหมูป่า” นอกจากนี้ยังพบไหเงินรูปหมูป่า ที่มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถึง 15 ในอินโดนีเซีย

จีนก็ไม่ยอมเหมือนกัน นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่าในสมัยราชวงศ์ชิง จีนมีความคิดเกี่ยวกับการทำภาชนะบรรจุเงินรูปหมูขึ้นมา เนื่องจากหมูเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อในสมัยราชวงศ์ชิง

และอีกตำนาน เล่าว่ากระปุกออมสินถูกนำเข้าไปในสหรัฐอเมริกาโดยชาวเยอรมัน ในช่วงที่ชาวเยอรมันอพยพเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก ชาวเยอรมันพกกล่องเงินรูปหมูที่ใช้กันมานานหลายศตวรรษเข้าไปด้วย ตามความเชื่อว่าหมูเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และการอดออม ดังนั้น ในเยอรมนีอาจมีคนโชคดีบางคนพูดว่า “schwein gehabt” ซึ่งแปลว่า “ได้รับหมู” ขนมรูปหมู ก็มีชื่อเสียงมากในเยอรมนี เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี

นอกจากนี้ ในหลาย ๆ วัฒนธรรมก็มองว่าหมูเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งสมบูรณ์ ก็เพราะรูปร่างของมันอ้วนพี แถมยังกินจุจนอีกต่างหาก ดังนี้ การนำเอาหมูมาทำเป็นกระปุกออมสิน จึงมีความหมายเป็นนัยว่าจะได้เก็บออมเข้าไปให้มาก ๆ ให้เจ้าหมูได้กินเงินเข้าไปเยอะ ๆ จะได้มีเงินเก็บมากมาย และร่ำรวย แต่ไม่ว่ากระปุกออมสินรูปหมูจะมีที่มาจากไหน ก็ไม่สำคัญเท่าการใช้ประโยชน์ของมัน คือการเก็บออม ดังนั้น ไม่ว่ากระปุกออมสินจะเป็นรูปอะไรก็ตาม ขอให้มีวินัยในการออมเงิน หมั่นหยอดเงินลงกระปุกรูปอะไรก็ได้ที่ว่าก็แล้วกัน

กระปุกออมสินในไทย

ถึงกระปุกออมสินรูปหมูจะมีตำนานมานาน แต่กระปุกออมสินรุ่นแรกของไทยไม่ใช่รูปหมู กระปุกออมสินของไทยเริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทอดพระเนตรเห็นการดำเนินงานคลังออมสิน ขณะทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อเสด็จฯ กลับไทย จึงทรงฝึกมหาดเล็กให้รู้จักเก็บออมเงินตั้งแต่ยังเด็ก โดยทรงนำแบบตู้ไปรษณีย์โทรเลขริมถนนมาทำเป็นรูปกระปุกออมสิน วางจำหน่ายครั้งแรกวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ราคาใบละ 10 สตางค์ ทำด้วยโลหะสังกะสี มีกระดาษปิดทับ ด้านข้างมีคำกลอนเกี่ยวกับการออม

กระป๋องออมสินรุ่นแรกของไทย จัดทำขึ้นในยุคคลังออมสิน จุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนรู้จักเก็บออมเงิน โดยใช้กระป๋องนี้เก็บสะสมทรัพย์ เมื่อกระปุกเต็ม เจ้าหน้าที่จะทุบเพื่อเอาเงินออกแล้วเปลี่ยนใบใหม่ให้ เงินจากกระปุกจะฝากไว้ที่คลังออมสิน โดยเรียกการรับฝากเงินประเภทนี้ว่า “คลังออมสินสำหรับบ้าน” หรือ Home Saving Bank

กระปุกออมสินของไทยแบบแรก คือ ตู้ฝากเงินโรงเรียนสมัยเป็นคลังออมสิน เป็นตู้เหล็กสีเขียว ลักษณะรูปทรงจำลองมาจากตู้ไปรษณีย์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข กว้าง 21 เซนติเมตร สูง 41 เซนติเมตร มีตราครุฑอยู่ด้านหน้า และมีอักษรชื่อว่าคลังออมสิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook