รู้ไว้ใช่ว่า “สมัครใจลาออก-เกษียณก่อนกำหนด” รับชดเชยเท่า “เลิกจ้าง”

รู้ไว้ใช่ว่า “สมัครใจลาออก-เกษียณก่อนกำหนด” รับชดเชยเท่า “เลิกจ้าง”

รู้ไว้ใช่ว่า “สมัครใจลาออก-เกษียณก่อนกำหนด” รับชดเชยเท่า “เลิกจ้าง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชีวิตของคนทำงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือลูกจ้าง คงไม่มีใครอยากอยู่ในสถานะ “ถูกเลิกจ้าง” กันทั้งนั้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจของหลายบริษัทไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หากไม่มีการปรับโครงสร้างของบริษัท ด้วยการลดจำนวนพนักงานลง

โครงการ “สมัครใจลาออก” หรือ “เกษียณอายุก่อนครบกำหนด” จึงเป็นทางออกสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องการอยู่รอดต่อไป และเป็นทางเลือกให้กับพนักงานบริษัท หากไม่อยากถูกจิ้มให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ

บริษัทจ่ายชดเชยเท่าพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หรือมากกว่า

โครงการ “สมัครใจลาออก” หรือ “เกษียณอายุก่อนครบกำหนด” นั้น ตามกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดไว้ว่าลูกจ้างควรได้เงินเท่าใด และนายจ้างควรจ่ายเงินเท่าใด แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างจะจ่ายอย่างน้อยเท่ากับค่าชดเชยตามอายุงานที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 พร้อมเงินเพิ่มเติม อาทิ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) ซึ่งในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานระบุไว้ดังนี้

  1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (120 วัน ไม่ครบ 1ปี รับชดเชย 30 วัน)
  2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (1 ปี ไม่ครบ 3 ปี รับชดเชย 90 วัน)
  3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (3 ปี ไม่ครบ 6 ปี รับชดเชย 180 วัน)
  4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (6 ปี ไม่ครบ 10 ปี รับชดเชย 240 วัน)
  5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (10 ปี ไม่ครบ 20 ปี รับชดเชย 300 วัน)
  6. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย (20 ปีขึ้นไป รับชดเชย 400 วัน)

ประกันสังคมจ่ายชดเชยเท่ากับกรณีเลิกจ้าง

ส่วนการรับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม เมื่อลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ “สมัครใจลาออก” หรือ “เกษียณอายุก่อนครบกำหนด” และมีสถานะเป็นผู้ว่างงาน จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราใดนั้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าถือเป็นการเลิกจ้างเพราะไม่ได้เป็นการลาออกเองของลูกจ้างตามปกติ ดังนั้นลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ “สมัครใจลาออก” หรือ “เกษียณอายุก่อนครบกำหนด” จึงได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเดียวกับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามข้อ ๑ (๑) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานฯ

โดยรายละเอียดคำวินิจฉัยดังกล่าวมีขึ้นในปี 2555 จากกรณีที่สถานประกอบหลายแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 จนต้องปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการปรับลดพนักงาน ซึ่งคำวินิจฉัยระบุไว้ดังนี้

“โครงการสมัครใจลาออกหรือเกษียณอายุก่อนครบกำหนดอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันซึ่งต้องพิจารณาจากถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในแต่ละโครงการเพื่อให้ทราบเจตนาของนายจ้าง โดยโครงการตามข้อหารือนี้ มีลักษณะเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่จะระงับความผูกพันตามสัญญาจ้างด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย กรณีนี้จึงมิใช่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง หรือลูกจ้างเป็นฝ่ายลาออก หรือเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น อีกทั้งไม่อาจนำความหมายของการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้ได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียวในการบอกเลิกสัญญาจ้าง ตามข้อหารือนี้จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องตีความโดยคำนึงถึงหลักประกันของลูกจ้าง อันเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม ประกอบเจตนาของนายจ้างที่จัดให้มีโครงการดังกล่าวเพราะต้องการลดจำนวนลูกจ้างลง ดังนั้น ลูกจ้างที่ออกจากงานตามโครงการดังกล่าวจึงควรได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเดียวกับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามข้อ ๑ (๑) แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานฯ”

ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน กรณีถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน (6 เดือน) ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท แต่หากมีเงินเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท เท่ากับฐานเงินเดือน 15,000 บาท

ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วัน

หากพ้นจากสถานะพนักงานบริษัทแล้ว ผู้ประกันตนจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน และรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ www.empui.doc.go.th ) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออก และรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อมิให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน

โดยให้ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) ได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่ / สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook