ขี่จักรยานใน กทม. อย่างไรให้ปลอดภัย

ขี่จักรยานใน กทม. อย่างไรให้ปลอดภัย

ขี่จักรยานใน กทม. อย่างไรให้ปลอดภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบใช้จักรยานในการเดินทางเมื่อไม่ต้องเร่งรีบและไม่มีเวลาเป็นตัวกำหนดในการเดินทาง มีหลายครั้งที่หลีกเลี่ยงและเลือกไม่ได้ที่จะต้องปั่นจักรยานบนถนนใน กทม. ซึ่งมือใหม่หลายท่านมองว่าเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ ท้าความตาย และน่าอันตราย แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านฉันใด ในวิกฤติก็มีโอกาสสำหรับผู้มองเห็นโอกาสเช่นกัน

การปั่นจักรยานร่วมกับพาหนะอื่นๆ มีความเป็นไปได้และมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง หากเราปั่นฯ อย่างมีสติและไม่ประมาท

ผมมานึกว่าในกระดาน ThaiMTB แห่งนี้คงมีหลายท่านที่อยากรู้ว่าเทคนิคการปั่นจักรยานบนถนนใน กทม. นั้นทำกันอย่างไร ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมเองก็ไม่ใช่ผู้ชำนาญการแต่ก็อยากร่วมแบ่งปันประสพการณ์ที่เรารู้และทราบมาจากประสพการณ์จริง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ท่านอื่นๆ บ้างเท่านั้นเองครับ

ถนนที่ควรหลีกเลี่ยง

- ถนนสายหลักบางเส้นทางถึงแม้จะเป็นถนนที่กว้างขวางชนิด 4 เลน หรือ 8 เลน แต่ไม่มีไหล่ทางและการจราจรไม่ติดขัด รถยนต์ส่วนใหญ่จะใช้ความเร็วค่อนข้างสูงดังนั้นหากมีพาหนะที่ค่อนข้างช้า อยู่บนเส้นทางจึงเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ แต่หากถนนเส้นทางนั้นมีฟุตบาทที่กว้างขวางและคนเดินถนนน้อยก็สามารถหลีก เลี่ยงนำจักรยานไปปั่นฯ บนฟุตบาทได้ แม้ว่าจะไปด้วยความเร็วที่ค่อนข้างช้ากว่าการปั่นฯ บนผิวถนนแต่ก็มีความปลอดภัยมากกว่า

การปั่นฯ บนฟุตบาทควรให้เกียรติและให้สิทธิผู้เดินถนนมาก่อนเพื่อความปลอดภัยและเป็น มารยาทที่ดี ไม่ควรใช้กระดิ่งจักรยานอย่างพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น สิ่งที่ควรจะต้องระวังบนผิวฟุตบาทนอกจากผิวทางที่ไม่สม่ำเสมอในบางเส้นทาง แล้วก็ควรจะระวังรถจักรยานยนต์ที่มาร่วมใช้เส้นทางด้วยโดยเฉพาะรถ จักรยานยนต์ที่ขับสวนทางมาด้วยความเร็ว

- ถนนซอยที่เป็นเส้นทางลัดของรถยนต์ย่อมมีรถใช้เส้นทางมากกว่าถนนซอยทั่วไปและ มักจะเป็นทางแคบดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงในการนำจักยานเข้าไปปั่นฯ ยกเว้นพิจารณาแล้วว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลาเร่งด่วนตอนเช้าและเย็นหรือ เป็นทางช่วงสั้นที่สามารถปั่นฯ ผ่านไปได้โดยใช้เวลาอยู่บนผิวทางไม่นานนัก

- ช่วงใกล้แยกจุดตัดถนนที่เป็น 3 แยก 4 แยกและมีสัญญาณไฟจราจรแม้ว่าจะดูน่าปลอดภัย แต่มักจะเป็นจุดที่รถยนต์เร่งใช้ความเร็วเมื่อได้สัญญาณไฟเขียว ดังนั้นเมื่อเห็นว่าไม่ปลอดภัยที่จะปั่นฯ อยู่บนผิวถนนร่วมกับรถยนต์ควรหลีกเลี่ยงอันตรายด้วยการขึ้นไปใช้ผิวฟุตบาทใน การเดินทางแทนแม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ ก็ตาม ในกรณีที่ผิวฟุตบาทมีลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปั่นจักรยานเช่นมีแผงขาย สินค้า มีคนเดินถนนมาก เราอาจจะเลือกเข็นจักรยานเป็นระยะทางสั้นๆ บนฟุตบาทแทนการปั่นฯ ได้เช่นกัน

- การข้ามถนนที่กว้างและรถยนต์ใช้ความเร็วสูงอย่างเช่นถนนวิภาวดีรังสิต ถนนรามอินทรา ฯลฯ อาจจะเลือกใช้วิธีข้ามถนนด้วยการนำจักรยานข้ามสะพานลอยคนเดินถนนจะมีความ ปลอดภัยสูงกว่าการข้ามบนผิวถนนหรือปั่นฯ ตามการจราจรผ่านแยกไฟจราจร/กลับรถในจุดกลับรถของรถยนต์เพราะเราอาจจะถูกรถ ยนต์เบียด แซง หรือชนหากปั่นฯ ช้าจนค้างอยู่บนผิวจราจรเมื่อกระแสรถยนต์ทิศทางอื่นได้สัญญาณไฟเขียวหรือมี จังหวะแซงจนเราอาจจะเกิดอันตรายได้

- เกาะกลางถนนช่วงจุดกลับรถเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับจักรยานเนื่องจากการข้าม ถนนในจุดดังกล่าวนอกจากจะต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสมแล้ว เรายังต้องใช้ความระมัดระวังรถมากกว่า 2 ทิศทาง (รถยนต์ทิศทางขาขึ้น/รถยนต์ทิศทางขาล่องและรถยนต์ที่ต้องการจะกลับรถทั้ง 2 ทิศทาง) หากจำเป็นต้องใช้จุดกลับรถในการข้ามถนนพยายามอย่าเลือกตำแหน่งที่คาดว่าจะมี รถยนต์มาใช้ผิวทางเช่นหัวเกาะทั้ง 2 จุด บางครั้งการเลือกข้ามตรงจุดกึ่งกลางระหว่างหัวเกาะที่มีพื้นที่กว้างขวางอาจ จะปลอดภัยกว่าหรืออีกวิธีหนึ่งที่ดีกว่าก็คือการเข็นรถจักรยานข้ามเกาะกลาง ทีละครึ่งช่วงถนนเช่นเดียวกับการเดินข้ามถนนแทนที่จะมาข้ามตรงจุดกลับรถ

ถนนที่ปั่นจักรยานได้

- จริงๆ แล้วถนนสายหลักทั่วพื้นที่ กทม. มักเป็นอันตรายสำหรับการปั่นจักรยานเนื่องจากมี รถเมล์/ รถตู้โดยสาร/ รถร่วม ขสมก./ สามล้อเครื่อง/ แท๊กซี่ และมอเตอร์ไซด์ ซึ่งเป็นพาหนะอันตรายสำหรับจักรยาน แต่ถนนสายหลักหลายเส้นทางก็มีการจราจรติดขัดอยู่ตลอดแทบทั้งวัน ซึ่งถนนลักษณะนี้รถยนต์และรถที่มีขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดมักเคลื่อนที่ไปได้ อย่างช้าๆ จึงไม่ค่อยมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับจักรยานได้มากนักและบริเวณใกล้ ฟุตบาทหรือช่องทางด้านซ้ายก็มักมีพื้นที่พอเพียงสำหรับการปั่นจักรยานสำหรับ ผู้ที่มีประสพการณ์ในการปั่นจักรยานบนถนนมาบ้างแล้ว สิ่งที่ควรระวังก็มีเพียงจักรยานยนต์ที่มักแทรกออกมาในจุดที่ไม่คาดคิดบ้าง เล็กน้อย รวมไปถึงจักรยานยนต์ที่ตามหลังมาในเส้นทางที่อาจจะเบียดหรือแซงจนเราเสีย หลักได้

- ซอยย่อย ใน กทม. หลายเส้นทางมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการปั่นจักรยานเนื่องจากไม่มี รถตู้ รถเมล์ รถร่วม ขสมก. อยู่ในเส้นทาง รถที่ควรจะต้องระวังก็มีเพียงสี่ล้อเล็ก รถแท๊กซี่และมอเตอร์ไซด์เท่านั้นเอง ซอยย่อยบางแห่งถึงจะเป็นซอยย่อยแต่ก็มีผิวทางที่กว้างขวางถึง 4 หรือ 6 ช่องจราจรโดยผิวจราจรด้านในสุดอาจจะเป็นที่จอดรถซึ่งทำให้รถยนต์ที่แล่นบน ถนนใช้ความเร็วสูงมากไม่ถนัด แต่ก็ควรจะต้องใช้ความระมัดระวังเมื่อปั่นฯ ผ่านรถแท๊กซี่ที่จอดส่งผู้โดยสารหรือรถยนต์ที่จอดอยู่โดยมีผู้โดยสารอยู่ใน ตัวรถเนื่องจากประตูรถอาจจะถูกเปิดออกมาขวางหน้าเรากระทันหันจนอาจจะเกิด อุบัติเหตุได้

- ถนนซอยบางเส้นทางอาจจะเป็นทางตันสำหรับรถยนต์ แต่หากพิจารณาหรือสอบถามเส้นทางจากชาวบ้านในท้องถิ่นอาจจะพบว่ามีทางลัดท้าย ซอยสำหรับ คนเดินเท้า จักรยานและจักรยานยนต์ ซึ่งทางลักษณะนี้มักแทบไม่มีรถยนต์เข้ามาใช้เส้นทางจึงมักใช้เป็นเส้นทาง จักรยานได้ปลอดภัยกว่าเส้นทางอื่น

- หมู่บ้านขนาดใหญ่หลายแห่งใน กทม. นอกจากถนนเส้นหลักที่มีรถยนต์หนาแน่นแล้วเส้นทางในหมู่บ้านมักมีซอยย่อยที่ ขนานไปกับเส้นทางหลักอีกต่างหาก การเลือกปั่นจักรยานในเส้นทางย่อยแทนถนนหลักจะช่วยให้ปั่นจักรยานได้ด้วย ความปลอดภัย สะดวก และปลอดจากอันตรายมากกว่าการปั่นฯ บนเส้นทางหลัก

- เส้นทางใน กทม. นั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับทางหลวงทั่วประเทศไทยที่นอกจากจะมีเส้นทางหลัก ที่การจราจรหนาแน่นแล้ว ในทิศทางการเดินทางเดียวกันอาจจะมีซอยย่อยที่อาจจะคดเคี้ยวหรืออ้อมเล็กน้อย แต่ก็มุ่งหน้าไปทิศทางเดียวกับเส้นทางหลักซึ่งซอยลักษณะนี้มักมีรถยนต์ใช้ เส้นทางน้อยกว่าถนนใหญ่ทำให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้เป็นเส้นทางปั่น จักรยาน

 

เทคนิคและข้อควรระวังขณะปั่นจักรยานบนผิวถนน

สิ่งที่ควรสังเกตุและใช้ความระมัดระวังขณะปั่นจักรยานก็คือ

1. คนยืนริมถนนที่น่าจะรอข้ามถนน/รอเรียกรถยนต์สาธารณะ เพราะเราอาจจะถูกรถสี่ล้อเล็กและแท๊กซี่ตัดหน้า+เบรคกระทันหัน (เพื่อรับผู้โดยสาร) ในระยะกระชั้นชิด หรือคนข้ามถนนเดินตัดหน้าและขวางทางดังนั้นเมื่ออยู่ในสถานการณ์แบบนี้ วิธีที่ปลอดภัยไว้ก่อนก็คือชลอความเร็ว หยุดการปั่นฯ เบรคหรือเตรียมเบรคไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

2. บริเวณใกล้ป้ายรถเมล์แม้จะไม่มีผู้โดยสารยืนรอ แต่ก็มีความเสี่ยงที่รถเมล์จะขับตัดหน้าจักรยานเพื่อจอดส่งผู้โดยสาร

3. รถยนต์ที่จอดอยู่ในช่องทางริมถนนแต่มีผู้ขับขี่อยู่ในที่นั่งคนขับ มักจะมีแนวโน้มที่จะออกรถอย่างทันทีทันใด ในช่วงเวลาใดก็ได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นระหว่างที่ปั่นจักรยานอยู่ด้านข้างรถยนต์พอดีจะ ค่อนข้างอันตราย ควรใช้ความระมัดระวังและให้สัญญาณระหว่างผ่านผู้ขับขี่เพื่อที่ผู้ขับรถยนต์ จะได้สังเกตุและระมัดระวังผู้ปั่นจักรยาน

4. ทางโค้งหลายแห่งใน กทม. ในปัจจุบันมักมีการทาแถบสีนูนเพื่อเตือนรถยนต์ให้ลดความเร็วการปั่นฯ ผ่านไปบนแถบสีเป็นช่วงๆ นอกจากจะกินแรงในการปั่นฯ มากกว่าปรกติแล้วยังทำให้รู้สึกสะเทือนมากกว่าการปั่นฯ บนผิวถนนเรียบๆ หากใช้ความสังเกตุให้ดีแถบสีเหล่านี้มักมีช่องว่างด้านข้างช่องจราจรประมาณ 1 ฟุตทั้ง 2 ด้านซึ่งกว้างพอเพียงที่จะปั่นฯ ผ่านไปได้โดยไม่ต้องพบกับความสะเทือนบนผิวถนน

5. ถนนบางแห่งที่มีรถยนต์จอดอยู่มักมีสุนัขมาหลบแดดนอนใต้ท้องรถ การปั่นฯ ผ่านในระยะใกล้มากอาจจะเป็นการส่งเสียงรบกวนให้สุนัขตื่นขึ้นมาวิ่งไล่กวด ได้ ดังนั้นหากพบว่ามีสุนัขนอนอยู่ใต้ท้องรถควรใช้ความระมัดระวังหรือหลีกปั่นฯ ผ่านในระยะห่างพอสมควรและหากเป็นช่องทางแคบควรมองล่วงหน้าไปถึงรถที่จะสวนมา หรือรถด้านหลังในระยะใกล้ด้วย

6. เสียงเครื่องยนต์ในระยะใกล้ทางด้านหลังอาจจะเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีรถยนต์ กำลังหาที่จอดรถริมถนนบริเวณที่เราปั่นฯ อยู่หรือชลอรถเพื่อเลี้ยว (ตัดหน้า) เข้าซอยข้างหน้า

 

เทคนิคการปั่นฯ ทั่วไป

- ถนนซอยบางแห่งผิวทางขรุขระ ไม่ราบเรียบ เป็นช่วงสั้นๆ เป็นระยะๆ หากผู้ปั่นฯ มีทักษะพอเพียงสามารถเลี่ยงปั่นบนแนวเส้นทางร่องระบายน้ำซึ่งมักจะมีผิวราบ เรียบ(เสมอ)และมากกว่าผิวถนนได้

- ลูกระนาดและผิวทางขรุขระช่วงสั้นๆ เป็นจุดที่ควรถนอมกำลังในการปั่นฯ ด้วยการปล่อยให้รถเคลื่อนที่ไปด้วยแรงเฉี่อยของตัวเองมากกว่าการปั่นฯ เนื่องจากผิวทางลักษณะเช่นนี้มักกินกำลังในการปั่นฯ มากกว่าการปั่นฯ บนผิวทางทั่วไป

- สำหรับผู้ที่มีประสพการณ์ในการปั่นฯ รถซาเล้ง/ รถขายสินค้า และรถเมล์ 2 แถวขนาดเล็ก มักจะเป็นรถที่ใช้ความเร็วสม่ำเสมอและแล่นอย่างช้าๆ จนสามารถปั่นฯ ดูดตามรถเพื่อผ่อนแรงและเพิ่มความเร็วในการปั่นฯ ได้ แต่ก็ควรมองเผื่อไปในเส้นทางข้างหน้าว่ามีสิ่งกีดขวางเช่นรถที่จอดกระทันหัน หรือผู้โดยสารรออยู่ข้างทางหรือไม่เพื่อที่เราจะได้หยุดตามรถเหล่านั้นได้ ทันท่วงที

- ไม่ควรปั่นฯ แซงรถเมล์หรือรถแท๊กซี่ที่จอดรอรับผู้โดยสารหรือส่งผู้โดยสารโดยไม่จำเป็น เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเมื่อรถเหล่านั้นเคลื่อนที่ออกจากที่ จอดโดยมองไม่เห็นจักรยานที่อยู่ด้านข้าง

- เมื่อมีรถยนต์จอดขวางอยู่ด้านหน้าและปั่นฯ แซงผ่านไปไม่ได้ ควรจอดรอและลดเกียร์เป็นเกียร์ต่ำเพื่อเตรียมตัวออกรถตามรถยนต์คันนั้นออกไป และหากเราใช้ความเร็วที่เหมาะสมเราอาจจะเลือกใช้วิธีผ่อนแรงในการปั่นฯ ด้วยการใช้เทคนิคดูดรถยนต์นั้นไปในระยะทางสั้นๆ ได้อีกต่างหาก

- พื้นที่บางจุดมักมีสุนัขจรจัดนอนขวางเส้นทางการปั่นฯ หลายตัวหรือมากกว่า 10 ตัว การปั่นฯ ผ่านไปบางครั้งอาจจะเกิดอันตรายจากสุนัขตื่นขึ้นมารุมวิ่งไล่กวดทั้งฝูง หากพิจารณาแล้วว่าไม่มีสุนัขตัวใหญ่ที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้ การลงจากจักรยานแล้วเข็นรถผ่านไปอย่างช้าๆ อาจจะปลอดภัยมากกว่าหรือหากเผื่อความปลอดภัยอาจจะเก็บกิ่งไม้ข้างทางหรือ ก้อนหินเอาไว้ในมือเผื่อจะต้องไล่สุนัขด้วยก็ได้ หรือหากไม่แน่ใจก็ควรรอเพื่อนร่วมทางคนอื่นที่เป็นคนเดินถนนหรือคนที่ปั่นฯ จักรยานเช่นเดียวกับเรา เมื่อผ่านมาก็ขออาศัยเป็นเพื่อนร่วมเส้นทางไปเพื่อความอุ่นใจด้วยก็ได้

สุนัขโดยทั่วไปมักหวงเขตที่อยู่ของตัวเองซึ่งมีระยะทางไม่กี่ร้อยเมตรดัง นั้นหากเราพ้นระยะนั้นออกมาได้ก็นับว่าปลอดภัยจากการรบกวนของสุนัขแล้วเช่น กัน


เทคนิคการขับขี่จักรยานใน กทม. (ภาค ๒) สำหรับมือเก่า

เป็นที่รู้และเข้าใจโดยปริยายสำหรับนักจักรยานมือเก่าที่ปั่นฯ ใน กทม. มานานแล้วว่า หากมีทางให้เลือกได้มักจะเลือกปั่นฯ บนถนน มากกว่าการปั่นฯ บนฟุตบาท และก็มักจะเลือกข้ามสี่แยกด้วยการปั่นฯ เมื่อได้สัญญาณไฟเขียวไปพร้อมๆ กับรถอื่นมากกว่าการเข็นรถจักรยานข้ามสี่แยกตามทางม้าลาย (มันดูไม่เป็นมือโปร. 5555)

แต่ก็ทราบกันดีอยู่แล้วเช่นกันสำหรับมือเก่าว่าสี่แยกนี่แหละเป็นสุดยอดของ ความเสี่ยงและ "ปราบเซียน" มานักต่อนักแล้ว หากคุณคำนวนจังหวะการข้ามสี่แยกผิดพลาด รายการเสียวกลางอากาศท่ามกลางและต่อหน้าสายตานับ 100 คู่มักจะมีเกิดขึ้น.....แฮ่ๆๆๆๆ ผมเองก็เคยเจอกับตัวเองมาแล้วครับ

วันนี้อยากจะคุยเน้นเฉพาะเรื่องการข้ามสี่แยกสักนิดหนึ่งว่ามันมีรายละเอียด อะไรบ้างที่คนที่อยากจะ "Turn Pro" ควรจะได้รู้ เล่าผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ต้องขออภัยมือเก่าทั้งหลายไว้ด้วยนะครับ เพราะเป็นความรู้จากประสพการณ์ส่วนตัวที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อและความเสียว ใส้ 5555

1. การข้ามสี่แยกแบบโดดเดี่ยวมีแต่จักรยานคันเดียวบนถนนเป็นสิ่งที่ควรหลีก เลี่ยงแม้ว่าจะมีสัญญาณไฟเขียวอยู่เป็นเวลานานเพราะอาจจะมีรถที่แล่นอยู่ใน อีกทิศทางหนึ่งหรือจอดรอไฟแดงเห็นถนนว่างก็เลย.... ฝ่าไฟแดง.... ออกมาโดยเฉพาะในปัจจุบันจะพบมากกับยานพาหนะประเภทจักรยานยนต์ ซึ่งผลที่ได้มักเป็นอุบัติเหตุและความเสียหายชนิดรุนแรง (ยกเว้นแต่ว่าคุณพิจารณาด้วยตัวเองแล้วว่าปลอดภัยแน่นอน)

2. จังหวะที่เหมาะสมสำหรับการข้ามสี่แยกในจังหวะสัญญาณไฟเขียวคือการออกตัว พร้อมๆ กับรถอื่นในลักษณะการ "เกาะกลุ่ม" หรือ "ดูด" ตามรถที่ใหญ่กว่าออกไป โดยเฉพาะรถที่มีอัตราการเร่งช้า เช่น รถสิบล้อที่มีน้ำหนักบรรทุก รถทัวร์ที่มีผู้โดยสาร รถขายไอสครีม รถซาเล้ง ฯลฯ

การอาศัยแอบ "บัง" รถ(ยนต์) คันอื่นออกไปผ่านหรืออยู่กลางสี่แยกจะเป็นการช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในกรณีเกิด อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดอย่างเช่นรถที่หลับในฝ่าไฟแดงออกมาชนรถที่ได้ไฟเขียว

3. หากเกียร์ที่คุณใช้เพื่อการปั่นฯ ออกรถทั่วๆ ไปคือเกียร์ 1- 4 (จาน 1 เกียร์ 4) ให้ทดลองใช้เกียร์ที่สูงกว่าอีก 1 ระดับเช่นเกียร์ 1 - 5 เพื่อการปั่นฯ ออกรถตามบริเวณ 4 แยก หากรู้สึกว่าไม่เป็นการฝืนแรงปั่นฯ มากจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้คุณสามารถเร่งหนีภาวะคับขันขึ้นความเร็วสูงได้ดีกว่าการ เริ่มต้นจากเกียร์ต่ำๆ โดยไม่ต้องมึนหรือสับสนกับการเปลี่ยนเกียร์ช่วงคับขัน

4. แยกไฟสัญญาณจราจรที่รู้สึกว่ายากต่อการปั่นฯ ข้ามไปพร้อมรถยนต์อื่น แนะนำให้แปลงกายเป็นคนเดินข้ามถนนแล้วข้ามตามทางม้าลายจะทำได้ "ง่ายกว่ากันเยอะเลย" 5555

5. ถึงที่สุดแล้วหากยังหาวิธีข้ามสี่แยก "หวาดเสียว" นี้ไม่ได้ ก็แบกรถเดินข้ามสะพานลอยเลย ......"ง่ายดีกว่า" อีกเหมือนกันครับ

เทคนิคอื่นๆ

1. การติดไฟกระพริบแสงสีขาวที่สว่างมากๆ ด้านหน้ารถ พอจะช่วยลดอันตรายจากอุบัติเหตุได้ระดับหนึ่งเนื่องจากจะทำให้มอเตอร์ไซด์ ที่ขับย้อนศรสวนเลนมา รถยนต์ที่จะขับตัดหน้าออกจากซอย ชะงักและมองเห็นว่ามีจักรยานอยู่บนถนนใหญ่

พยายามเลือกไฟกระพริบที่มีจังหวะติด-ดับห่างกันพอสมควรเพื่อให้เป็นที่สัง เกตุง่าย ไฟกระพริบที่มีอัตราการกระพริบถี่เกินไปจะทำให้ไม่มีความเด่นและสะดุดตาครับ

2. หากเราใช้ความเร็วเดินทางค่อนข้างสูงและลำบากต่อการเบรคหยุดรถกระทันหัน เพื่อป้องกันรถอื่นแซงจากด้านหลังแล้วเลี้ยวตัดหน้าเข้าซอย ควรปั่นฯ ชิดขอบเลนด้านขวามือหรือปั่นฯ อยู่กลางเลนเฉพาะในจังหวะที่ผ่านบริเวณปากซอยเพื่อ ป้องกันอุบัติเหตุจากด้านหลัง เช่นเดียวกับสี่แยกจราจรที่ช่องจราจรซ้ายสุดเป็นเลนสำหรับรถที่ "เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด" หากเราต้องการตรงไปควรจะเลือกอยู่ในตำแหน่งซ้ายสุดของช่องจราจรช่องที่ 2 จะปลอดภัยกว่า

3. ถนนที่มีรถยนต์จอดอยู่เลนซ้ายเป็นระยะแม้จะมีระยะทางห่างกันมากก็ควรปั่นฯ อยู่ในแนวเลนที่มีรถจอดจะเป็นการปลอดภัยมากกว่าการปั่นฯ อยู่ในเลนขวาที่ว่าง เนื่องจากรถ (ยนต์) ที่มีความเร็วมักไม่นิยมแล่นบนเลนที่มีรถจอดขวางอยู่ข้างหน้า

4. ควรท่องจำให้ขึ้นใจว่าเมื่อเข้าที่คับขันสุดๆ จนหมดทางแก้ไขสถานการณ์แล้ว จักรยานทั้งคันรวมไปถึงเครื่องประดับและทรัพย์สินยังมีราคาถูกกว่ามูลค่า ชีวิตของตัวเราเองมากมาย

"หากไม่ตายก็ยังสามารถหาซื้อจักรยานคันใหม่ได้อีกหลายคัน แต่ชีวิตของเราเองเอาจักรยานแพงๆ นับร้อยคันมาแลกก็ไม่คุ้มกันครับ" 5555

เทคนิคสำหรับการปั่นจักรยานใน กทม. เที่ยวนี้มีข้อความสั้นนิดเดียว แต่ก็เช่นเคยครับ

ขอให้ทุกท่านได้ปั่นจักรยานอย่างมีความสุขและปลอดภัย ถึงบ้านโดยสวัสดิภาพครับ

 

ขอบคุณข้อมูล : เสือ Spectrum Thaimtb

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook